Personal Finance

กูรูวงการประกัน เปิด 10 จุดอ่อนที่ทำให้บริษัทประกันโควิด ขาดทุน ‘ย่อยยับ’

“บรรยง” เผย 10 จุดอ่อนที่ทำให้บริษัทประกันโควิด ขาดทุนย่อยยับ โดยเฉพาะการรับประกันภัยโควิด-19 ที่เป็นเรื่องใหม่ ไม่มีสถิติอ้างอิง แถมรับไม่จำกัดกรมธรรม์ เจอเดลตาระบาดเร็ว จ่ายอ่วม

นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์  ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน โพสต์เพจเฟซบุ๊ก บรรยง วิทยวีรศักดิ์ เปิด 10 จุดอ่อนที่ทำให้บริษัทประกันโควิด ขาดทุนย่อยยับ โดยระบุว่า

ประกันโควิด ขาดทุน

เมื่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาเริ่มแพร่ระบาดในประเทศไทย มันได้มาพร้อมกับกวาดเงินในกระเป๋าของผู้ถือหุ้นของบริษัทประกันวินาศภัย ที่รับประกันภัยแบบเจอจ่ายจบไปด้วยจนแทบจะหมดตัว บางบริษัทต้องล้มไปแล้ว บางบริษัทยังไม่รู้ชะตากรรม

10 สาเหตุที่เป็นจุดอ่อน ทำให้บริษัทประกันโควิด ขาดทุนย่อยยับ

1. รับประกันภัยที่ไม่มีสถิติอ้างอิง

เดิมบริษัทประกันภัยคาดว่า อัตราการติดเชื้อน่าจะประมาณ 500:1 คน จึงประกาศจ่ายทุนประกันกรณีเจอจ่ายจบให้ 200 เท่าของเบี้ยประกันภัย โดยเผื่อส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายและค่านายหน้า ที่เหลือคือกำไร

แต่ปรากฏว่าอัตราการติดเชื้อเพิ่มมาเป็น 32:1 คน (ประชากรไทย 65 ล้านคน ป่วย 2 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ 10 เท่า จากกำไรจึงการเป็นขาดทุนทันที

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนในเมืองใหญ่ที่สมัครทำประกันโควิดกันมาก มักจะมีอัตราการติดเชื้อมากกว่าปกติ เช่น ในกรุงเทพ มีอัตราการติดเชื้อถึง 20:1 หรือ 4 แสนคนต่อประชากร 8 ล้านคน(รวมประชากรแฝงแล้ว ประชากรตามทะเบียนราษฎร์มีอยู่ 5 ล้านคน)

2. คนไม่กลัวโรคโควิดจริงจัง

เมื่อตอนที่โรคโควิดระบาดใหม่ ๆ ความรับรู้ของคนส่วนใหญ่คือ มันเป็นโรคมฤตยู หากป่วยขึ้นมา มีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก จึงมีการระมัดระวังป้องกันตัวอย่างดี

แต่เมื่อผู้คนได้เรียนรู้ว่ามันเป็นโรคที่ติดต่อกันง่ายก็จริง แต่โอกาสเสียชีวิตมีเฉพาะคนอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น แถมอาการป่วยจะไม่รุนแรงโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น จึงทำให้ความระมัดระวังในการป้องกันตัวลดน้อยลง

บางคนถึงกับคิดเลยเถิดไปว่า ถ้าป่วยก็ไม่เป็นไร ได้เงินใช้ฟรีๆ เลยทำให้ไม่ใส่ใจป้องกันกันเท่าที่ควร การติดเชื้อเลยมากกว่าปกติ

บรรยง วิทยวีรศักดิ์
บรรยง วิทยวีรศักดิ์

3. ไม่มีการจำกัดจำนวนกรมธรรม์ต่อบุคคล

ตามหลักการรับประกันภัย ต้องพยายามไม่ให้ทุนประกัน เกินกว่าความเสียหายที่ลูกค้าได้รับ ไม่เช่นนั้นจะจูงใจให้ลูกค้ายอมเสียหายเพื่อรับเงินตอบแทนที่สูงกว่า

ในกรณีโรคโควิด ความเสียหายนั้นต่ำ เพราะอาการไม่รุนแรง แถมรัฐบาลยังประกาศออกค่ารักษาพยาบาลให้ฟรีทั้งหมด จึงทำให้ต้นทุนของผู้ป่วยบางคนแทบเป็นศูนย์

แต่เขาเหล่านั้นสามารถซื้อกรมธรรม์โควิดกี่บริษัทก็ได้ บางคนซื้อประกันเจอจ่ายจบถึง 8 บริษัท จึงมีแรงจูงใจให้ไม่ระมัดระวังในการดูแลตนเอง หรืออาจจะจูงใจให้ติดเชื้อเพื่อให้ได้รับเงินสินไหมสูง ๆ ก็มี

4. เชื้อไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่กลายพันธุ์ได้ง่าย

เชื้อโควิดเป็นไวรัสชนิดหนึ่ง จึงกลายพันธุ์ได้ง่าย และกลายพันธุ์ไปในทางที่ทำให้ติดเชื้อในมนุษย์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่บริษัทประกันภัยคาดไม่ถึง เพราะในอดีตที่ผ่านมา การรับประกันอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ก็ไม่มีสถิติที่ผันผวนขนาดนี้ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียไม่กลายพันธุ์ได้ง่ายเท่ากับเชื้อไวรัส

ส่วนเชื้อไวรัสอื่นที่กลายพันธุ์ เช่น ไข้หวัดใหญ่ก็ไม่มีอาการรุนแรงมาก จนมีการประกันภัยเฉพาะเหมือนโรคโควิดนี้

5. รัฐบาลล้มเหลวในการนำเข้าวัคซีน

ตามแผนการของบริษัทประกันภัยเชื่อว่า ต้นปี 2564 รัฐบาลจะทยอยนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชน อีกทั้งยังเชื่อว่าประเทศไทยเป็นฐานผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า น่าจะมีส่วนช่วยให้อัตราการติดเชื้อลดลง

แต่ปรากฏว่ารัฐบาลไม่กล้าลงทุนนำเข้าวัคซีนในช่วงแรก เพราะมองว่ามีราคาแพง รัฐบาลเชื่อมั่นว่ากระทรวงสาธารณสุขสามารถควบคุมโรคได้ดี จึงวางแผนจะซื้อวัคซีนเมื่อราคาถูกลง

พร้อมทั้งยังกีดกันไม่ให้หน่วยงานของรัฐหรือบริษัทเอกชนอื่น สั่งซื้อวัคซีนเข้ามาเอง โดยอ้างว่ารัฐบาลต้องรับภาระหากเกิดอาการแพ้ขึ้นมา จนนำไปสู่การระบาดขนานใหญ่ และประชาชนแย่งกันฉีดวัคซีนหนีตาย

6. บริษัทประกันภัยไหวตัวช้า

ตอนที่สายพันธุ์เดลตาเริ่มระบาดในอินเดียนั้น ก็มีข้อมูลที่เห็นได้ชัดว่า สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อเริ่มมีการติดเชื้อในประเทศไทย ก็สามารถติดเชื้อทีเดียวเป็นคัสเตอร์ใหญ่ ๆ ครั้งละ 10-20 คน ไม่เหมือนสายพันธุ์อู่ฮั่นที่ติดเพียง 1-2 คน

ความจริงถ้าผู้บริหารของบริษัทประกันภัยใส่ใจรายละเอียดตรงนี้ ต้องรีบปิดการรับสมัคร เพื่อประเมินความเสี่ยงใหม่ทันที แต่เนื่องจากปี 2563 มีผู้ติดเชื้อน้อย บริษัทเหล่านี้ได้กำไรมหาศาล จึงย่ามใจเปิดให้สมัครแบบไม่อั้น กว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว

ประกัน1

7. ไม่มีระบบกลั่นกรองผู้สมัคร

จากการที่รับประกันภัยโควิดในปีแรก (2563) ได้กำไรมาก ในปีถัดมาจึงเปิดให้มีการสมัครทางออนไลน์แบบไม่อั้น คือใครกรอกใบสมัครเข้ามา ก็ให้มีผลคุ้มครองทันที ซึ่งผิดวิสัยของบริษัทประกันภัย ที่จะต้องมีการประเมินความเสี่ยง ตรวจสอบคุณสมบัติเสียก่อน

การที่ให้ตัวแทนและนายหน้ารับสมัครอย่างไม่จำกัดนี้ ทำให้หลายบริษัทรับความเสี่ยงภัยมาเกินกว่าเกณฑ์ที่ระบบกำหนดว่า “ห้ามรับประกันวินาศภัยรายเดียวหรือหลายรายรวมกัน เพื่อวินาศภัยอันเดียวกัน ทั้งนี้ โดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัยเกินไปกว่าร้อยละสิบของเงินกองทุนของบริษัท”

8. คปภ.ผ่อนปรนกฏเกณฑ์ในการเรียกร้องสินไหม

ตามข้อกำหนดเดิม คนที่จะเรียกร้องสินไหมแบบเจอจ่ายจบนั้น นอกจากจะต้องตรวจผลแล็บจากสถานพยาบาลแล้ว ยังต้องมีแพทย์ผู้รักษาเขียนใบรับรองแพทย์ให้ด้วย แต่เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากวันละหลายหมื่นคน แพทย์ผู้รักษาไม่มีเวลาเพียงพอที่จะมา เขียนใบรับรองแพทย์ให้ทุกคน

ทางคปภ.จึงออกประกาศผ่อนปรนให้ใช้ผลแลปจากสถานพยาบาลว่า ติดเชื้อโควิด ก็สามารถเรียกร้องสินไหมเจอจ่ายจบได้

ขณะเดียวกันทางคปภ.ขอความร่วมมือให้บริษัทประกันภัยรีบจ่ายสินไหมภายใน 15 วันที่ได้หลักฐานครบ ทำให้ไม่มีเวลาตรวจสอบข้อเท็จจริง ประกอบกับมีคนเรียกร้องสินไหมจำนวนมาก คนทำงานไม่เพียงพอ จึงเป็นช่องโหว่ให้มีการทุจริตพอสมควร

9. ไม่มีบทลงโทษคนโกงแบบเด็ดขาด

มีข่าวหนาหูว่า มีคนจำนวนหนึ่งวางแผนโกงบริษัทประกันภัย เพื่อรับเงินสินไหมเจอจ่ายจบ เช่น การปลอมผลตรวจให้ตนเองติดเชื้อ หรือการจงใจที่จะทำให้ตนเองติดเชื้อเพื่อรับเงินสินไหม

ถึงแม้ต้นปีที่ผ่านมาทางคปภ. จะออกประกาศออกมาแล้วว่า คนที่ตั้งใจทุจริตในการเรียกร้องสินไหมจากบริษัทประกันภัยนั้น ตามกฏหมายใหม่ สามารถถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา ถึงขั้นจำคุกได้ แต่ก็ยังไม่มีกรณีตัวอย่างที่ทำให้คนหลาบจำ จึงยังคงมีคนตั้งใจทุจริตอยู่พอสมควร

คนในวงการคาดว่า น่าจะมีสัดส่วนทุจริตถึง 20% (ซึ่งอัตรานี้เป็นตัวเลขปกติของการทุจริต ที่พบเห็นในการเรียกร้องสินไหมในประกันภัยประเภทอื่นๆด้วย)

ประกันโควิด ขาดทุน

10. ยกเลิกสัญญาประกันภัยไม่ได้

ในฐานะผู้บริโภค พวกเราส่วนใหญ่ไม่ทราบกันว่า ในกรมธรรม์ประกันวินาศภัยทุกฉบับ จะมีเงื่อนไขให้บริษัทประกันภัยสามารถยกเลิกสัญญาได้ หากอัตราความเสี่ยงภัยเปลี่ยนไป แต่ในอดีตบริษัทประกันภัยจะใช้สิทธิ์นี้เฉพาะเมื่อการปฎิบัติตัวของลูกค้าทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น มีการตุนเชื้อเพลิงในโรงงานจำนวนมาก หรือมีการขับรถที่หวือหวา

แต่ในกรณีโรคโควิดนี้ไม่ได้เกิดจากการปฎิบัติตัวของลูกค้า แต่เกิดจากการที่เชื้อกลายพันธุ์ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และหากบริษัทใช้สิทธิ์นี้ ก็ต้องยกเลิกกรมธรรม์ของลูกค้าทั้งหมดนับแสนคน ซึ่งไม่เคยมีปรากฏการณ์นี้มาก่อน จนทำให้ บริษัทประกันโควิด ขาดทุนย่อยยับ

ตามแผนการของบริษัทประกันภัย ได้มีการวางหมากนี้ไว้แล้วว่า ถ้าความเสี่ยงภัยสูงขึ้นมาจริง ๆ ก็ให้ใช้สิทธ์นี้ แต่เมื่อบริษัทสินมั่นคงนำร่องทำเรื่องนี้ ก็ถูกโจมตีอย่างมาก ทำให้ต้องยอมจำนนรับความเสียหายไปโดยปริยาย

จะเห็นว่าสาเหตุ 10 ข้อข้างต้นนี้ มีทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ก็เป็นบทเรียนสำหรับบริษัทประกันภัยที่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนที่จะรับประกันภัยใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เราจะไม่พบเห็นว่า มีบริษัทประกันชีวิตใด ได้รับความเสียหายเหมือนบริษัทประกันวินาศภัย เพราะบริษัทประกันชีวิตไม่มีประกันแบบเจอจ่ายจบ แต่จะเป็นการประกันค่ารักษาพยาบาล ซึ่งไม่ได้รับความเสียหายมาก เนื่องจากบริษัทประกันชีวิตมีลักษณะของการออมเงิน เหมือนสลากออมสิน ค่ารักษาพยาบาลถือเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับเบี้ยประกันรวมที่รับเข้ามา

ขณะที่บริษัทประกันวินาศภัย มีลักษณะคล้ายสลากกินแบ่ง หรือเจ้ามือหวย หากมีคนถูกรางวัลพร้อมกันมาก ๆ เจ้ามือก็มีสิทธิ์ม้วนเสื่อง่าย ๆ เหมือนกัน

ดังนั้น ใครที่เคยเข้าใจว่าบริษัทประกันภัยเป็นเสือนอนกิน บริหารงานง่าย บทเรียนครั้งนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ธุรกิจนี้ไม่ใช่จะกินเงินชาวบ้านฟรี ๆ อย่างเดียว แต่ต้องรับผิดชอบเมื่อภัยมาตามสัญญาด้วย โดยมีคปภ.กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

ขอให้เชื่อเถอะว่า ระบบประกันภัย ประกันชีวิตเป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขให้กับประชาชน มันช่วยแบ่งเบาภาระให้ผู้ประสบภัยได้ แต่ขอให้ท่านมั่นใจว่าได้ทำประกันภัยกับบริษัทที่มั่นคงแล้วจริง ๆ

การประกันภัยยังเป็นระบบที่เชื่อถือได้ ดั่งที่ประเทศพัฒนาแล้วทุกประเทศ ใช้มันในการบริหารความเสี่ยงในทุกกิจกรรม ดังนั้น เมื่อมีภัยมา พวกเขายังสามารถเดินหน้าใช้ชีวิตหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo