COVID-19

ประกันโควิด เบี้ยวจ่ายชดเชย ‘หมออดุลย์’ ลั่น ไม่ควรรับประกันภัยตั้งแต่ต้น

“หมออดุลย์” ลั่น โรคติดต่อร้ายแรง ไม่ควรรับประกันภัยตั้งแต่ต้น หลังกรณีประกันโควิด เบี้ยวจ่ายเงินชดเชย  

ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune ชี้ โรคติดต่อร้ายแรงไม่ควรรับประกันภัยตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะประกันโควิด โดยระบุว่า

ประกันโควิด

ปัญหาที่เกิดทุกวันนี้ เกี่ยวกับโควิด-19 ที่บริษัทประกันภัยไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยได้ อาจเกิดจากการประเมินที่ไม่ครบถ้วนของการทำการเสนอ การเอาประกันของบริษัทต่าง ๆ ตั้งแต่ต้น

ในหลักของการจัดการพิจารณารับประกันภัย และการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย ที่เขียนโดยนักวิชาการประกันภัย พูดถึงข้อมูลในการพิจารณารับประกันภัยว่า มีข้อมูลที่จำเป็นอย่างยิ่ง (Essential Information) ที่บริษัทต้องพิจารณา คือ คุณลักษณะด้านความเสี่ยงภัย (risk characteristics) ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับ ความถี่ (frequency) ของการเกิดความเสียหาย และความรุนแรง(severity) ของความเสียหาย

สำหรับ โควิด-19 แล้ว ขณะที่บริษัทต่าง ๆ ในไทย รับประกันโรคโควิด ที่พร้อมจ่ายเมื่อป่วย ใช้ข้อมูลขณะที่ ผู้ป่วยในประเทศไทย เป็นหลักร้อยคน และสถานการณ์ที่รุนแรงสุด คือในจีน ซึ่งควบคุมโรคได้แล้ว โดยลืมคิดไปว่า โรคติดต่อร้ายแรง เป็นภัยคุกคาม ที่ไม่ได้หยุดได้ง่าย ๆ เหมือน รถชน ไม่เหมือนไฟไหม้ พายุเข้า หรือ น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือ แม้แต่ขโมยขึ้นบ้าน

ภัยพิบัติเหล่านั้น เวลาเกิดเหตุ เราระงับเหตุด้วยการไปแก้ไข หรือ ทำลายสาเหตุได้ เช่น ไฟไหม้ ก็ระงับไปด้วยการไปตัดเชื้อไฟของตึกข้างเคียง หรือบางครั้ง ก็ทำลายส่วนที่อาจจะติดไฟทิ้งเสีย

ประกันโควิด

แต่ในโรคติดต่อ เป็นโรคที่เกิดกับคน เราไม่สามารถทำลายคน เพื่อไม่ให้โรคหยุดติดต่อได้ การหยุดติดต่อ จำเป็นต้อง อาศัยความร่วมมือของคน ที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการไม่ติดต่อกัน

การไม่ติดต่อกัน ทำได้แค่ในช่วงเวลาสั้น ๆ และ จำกัด ดังนั้น การควบคุมโรคติดต่อร้ายแรง จึงยังต้องรอวิทยาการทางการแพทย์ เช่น วัคซีน หรือ ยา ซึ่งการประกันภัยในลักษณะนี้ คือ เอาความเสี่ยงของบริษัท ไปวางอยู่บนผลงานของคนอื่น ซึ่งตนเองควบคุมไม่ได้

อีกประเด็นที่สำคัญคือ ผู้รับผลประโยชน์ มีความสามารถในการกำหนดเหตุว่า ตนเองจะได้รับเชื้อและเป็นโรคติดต่อหรือไม่ เข้ากับลักษณะที่ทางประกันเรียกว่า ภาวะภัยทำงอุปนิสัย (Morale Hazard) คือ เจ้าตัวอาจจะทำตัวให้เสี่ยงภัยได้ด้วยตนเอง และ ในกรณีของโควิด-19 พิสูจน์ได้ยากมากว่า ผู้เอาประกัน มีเจตนาในการปล่อยให้ตัวเองติดโรค

ดังนั้น ในความเป็นจริง โรคติดต่อ จะต่างจากภัยพิบัติอื่น ๆ และ โรคทางกายอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ซึ่ง ความเสี่ยงเหล่านั้น ไม่ได้เกิดจากการติดต่อที่สามารถขยายเป็นวงกว้าง และ ไม่สามารถควบคุมได้อย่างโรค โควิด-19

ถูกโจรปล้น 10 ครั้งไม่เท่ากับ ไฟไหม้ 1 ครั้ง ไฟไหม้ 10 ครั้ง ไม่เท่ากับ โรคระบาดร้ายแรง 1 ครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo