Finance

‘สหรัฐ’ ยึดคืน ‘เงินคริปโท’ ล็อตใหญ่ 1.2 แสนล้านบาท โดนแฮ็กเกอร์ขโมยเมื่อ 6 ปีก่อน

เอฟบีไอสหรัฐ เข้าจับกุมคู่สามีภรรยา กล่าวหาสมคบคิดฟอกเงิน “เงินคริปโท” ที่ขโมยมาเมื่อ 6 ปี จากการแฮกเข้าระบบซื้อขายเสมือนจริงของ”บิตฟินเน็กซ์” พร้อมยึดคืนเงินดิจิทัลมูลค่าเกือบ 1.2 แสนล้านบาท

นางลิซา โมนาโค รองอธิบดีกรมอัยการสหรัฐ เปิดเผยว่า สำนักงานสืบสวนสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) ได้เข้าจับกุม นายอิลยา ลิคเทนสไตน์ วัย 34 ปี และนางฮีเธอร์ มอร์แกน วัย 31 ปี คู่สามีภรรยาชาวแมนฮัตตัน รัฐนิวยอร์ก ในข้อกล่าวหา สมคบคิดร่วมกันฟอกเงินดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี ที่ถูกขโมยมา จากการแฮ็กเข้าสู่ตลาดซื้อขายเงินตราเสมือนจริง “บิทฟินเน็กซ์” เมื่อปี 2559 พร้อมกันยึดคืนเงินดิจิทัล มูลค่ามากกว่า 3,600 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 120,000 ล้านบาท

เงินคริปโท

นางโมนาโค ระบุว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าว ถือเป็นการยึดเงินครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และว่า การจับกุมข้างต้นยังสะท้อนให้เห็นว่า เงินดิจิทัล ไม่ใช่ “สวรรค์” ของบรรดาอาชญากร

บุคคลทั้งคู่ ถูกนำตัวขึ้นศาลแขวงรัฐบาลกลางสหรัฐ ในรัฐนิวยอร์ก เพื่อการไต่สวนเบื้องต้น ในวันนี้ (9 ก.พ.) ตามเวลาในไทย โดยทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่า สมคบคิดฟอกเงินดิจิทัล สกุลบิทคอยน์ จำนวน 119,754 บิทคอยน์ ที่ถูกขโมยมา หลังจากที่แฮกเกอร์เข้าโจมตีบิทฟินเน็กซ์ และทำธุรกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตมากกว่า 20,000 รายการ

มูลค่าธุรกรรมเงินคริปโทเพิ่มจาก 71 ล้านดอลลาร์ เป็นกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์

เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐรายหนึ่ง เปิดเผยว่า การทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น มีราคาอยู่ที่ราว 71 ล้านดอลลาร์ แต่ด้วยมูลค่าของเงินดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น ทำให้ในขณะนี้ ธุรกรรมดังกล่าว มีมูลค่ามากกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า เหตุการณ์จับกุมข้างต้นเกิดขึ้น นานกว่า 4 เดือน หลังจากที่นางโมนาโค ประกาศว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อบังคับคดีเงินคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งในคณะทำงานชุดนี้ ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวด้านการต่อต้านฟอกเงิน และความปลอดภัยทางไซเบอร์

ที่ผ่านมา อาชญากรไซเบอร์ ที่โจมตีบริษัท ส่วนบริหารท้องถิ่น และบุคคลทั่วไป ด้วยแรสซัมแวร์ หรือมัลแวร์เรียกค่าไถ่ มักจะเรียกร้องให้ผู้เสียหายจ่ายเงินในรูปแบบเงินดิจิทัล

หนึ่งในคดีข้างต้น ที่โด่งดังไปทั่วโลก คือ การที่กลุ่มแฮกเกอร์เรียกค่าไถ่ ที่ใช้ชื่อว่า รีวิล (REvil) ใช้ซอฟต์แวร์เข้ารหัส ชื่อ ดาร์กไซด์ โจมตี โคโลเนียลท ไปป์ไลน์ ผู้ดำเนินกิจการท่อส่งก๊าซรายใหญ่ของสหรัฐ จนทำให้พื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ เกิดภาวะขาดแคลนก๊าซเป็นวงกว้าง ก่อนที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ จะเข้ามาช่วยยึดคืนเงินดิจิทัล ที่โคโลเนียลท ไปป์ไลน์ จ่ายให้กับแฮกเกอร์ มาได้ราว 2.3 ล้านดอลลาร์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo