Finance

10 ข้อที่ชาว LGBTQ+ ควรนึกถึง! เมื่อต้องการวางแผนทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงิน เป็นเป้าหมายสำหรับทุกคน แม้ภาพรวมการวางแผนทางการเงินจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่สำหรับกลุ่ม LGBTQ+ อาจมีรายละเอียดหรือเงื่อนไขบางอย่างที่แตกต่างกัน!

อิสรภาพทางการเงิน เป็นเป้าหมายสำหรับทุกคน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าภาพรวมการวางแผนการเงินจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่สำหรับกลุ่ม LGBTQ+ อาจมีรายละเอียดหรือเงื่อนไขบางอย่างที่แตกต่างกัน ดังนั้น กลุ่ม LGBTQ+ จึงควรพิจารณาและติดตามข้อมูลให้ถี่ถ้วนเพื่อให้การเริ่มต้นวางแผนการเงินเป็นไปอย่างราบรื่นและบรรลุเป้าหมาย

วางแผนทางการเงิน

โดยภาพรวมของการวางแผนทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน รวมถึงหลักการก็มีความคล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ตาม อาจมีความต่างกับกลุ่ม LGBTQ+ ที่ควรพิจารณาสำหรับการเริ่มต้นวางแผนการเงิน ดังนี้

1. ตั้งเป้าหมายทางการเงิน เริ่มต้นด้วยการระบุเป้าหมายทางการเงินของตัวเอง เช่น เก็บเงินดาวน์บ้าน เก็บเงินไปเที่ยว หรือเก็บเงินเพื่อใช้ตอนแก่ จากนั้นก็จัดลำดับความสำคัญของแต่ละเป้าหมายและกำหนดระยะเวลาในการบรรลุเป้าหมายนั้น เช่น เก็บเงินดาวน์บ้าน 2 แสนบาทภายในระยะเวลา 3 ปี หรือทุก ๆ เดือนจะแบ่งเงิน 2,000 บาท เพื่อลงทุนกองทุน RMF เพื่อเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณ เป็นต้น

2. จัดทำงบประมาณ เป็นการวางแผนประมาณการรายได้และรายจ่ายล่วงหน้า ด้วยการกำหนดที่มาของรายได้ จัดหมวดหมู่รายจ่าย และติดตามรายได้ ควบคุมรายจ่ายผ่านงบประมาณตามเหมาะสม และสอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินของตัวเอง ลด ละ เลิก การซื้อของที่ไม่จำเป็น เพราะจะทำให้มีเงินเก็บน้อยลง

การจัดทำงบประมาณ เป็นการตรวจสอบสุขภาพทางการเงินตัวเองว่ามีความแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน ด้วยการดูว่ารายได้มากกว่าหรือน้อยกว่ารายจ่ายแค่ไหน มีเงินออม และเงินลงทุนพอที่จะนำไปสร้างความมั่งคั่งได้หรือไม่ ระหว่างสินทรัพย์กับหนี้สิน อย่างไหนมากกว่ากัน เพราะความสำคัญในการจัดทำงบการเงินส่วนบุคคล อยู่ที่การรวบรวมรายการสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมด จากนั้นนำมาคำนวณหาความมั่งคั่งสุทธิ ก่อนเริ่มจัดทำแผนการเงินเพื่อสร้าง ความมั่งคั่งระยะยาวด้วยการเพิ่มสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ อะไรบ้าง

วางแผนทางการเงิน

3. ตรวจสอบสถานะทางการเงิน ควรตรวจสอบสถานะทางการเงินของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ว่าปัจจุบันมีสินทรัพย์ (เช่น เงินสด เงินฝาก เงินลงทุน มูลค่าเงินสดกรมธรรม์ของประกันที่ทำไว้ บ้าน ทองคำ ของสะสม) และหนี้สิน (เช่น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หนี้สินต่าง ๆ) อะไรบ้าง

จากนั้นก็นำมาคำนวณโดยใช้สูตร สินทรัพย์ทั้งหมดลบหนี้สินทั้งหมด หากผลลัพธ์ออกมาพบว่าสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน สะท้อนว่ามีสถานะทางการเงินที่ดี มีวินัยในการบริหารเงิน แต่หากหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ สะท้อนถึงพฤติกรรมการใช้เงินในอดีต

4. ออมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เงินออมก้อนแรกในชีวิตที่ควรมี คือ เงินออมสำรองเผื่อฉุกเฉิน โดยแต่ละคนควรมี 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน พูดง่าย ๆ หากไม่มีรายได้ก็สามารถมีเงินใช้จ่ายเพียงพอไปอีก 3 – 6 เดือน โดยเงินออมสำรองเผื่อฉุกเฉินนี้ จะนำออกมาใช้ก็ต่อเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ตกงาน หรือเจ็บป่วยกะทันหัน เป็นต้น โดยวิธีการเก็บเงินออมสำรองเผื่อฉุกเฉิน คือ หักเงินทุกเดือน เช่น 1,000 บาท แล้วไปเก็บไว้ที่สามารถถอนออกมาใช้ได้ทันทีและความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

5. จัดการหนี้ เมื่อเป็นหนี้แล้วก็ต้องจ่ายหนี้ตามกำหนด แต่เมื่อมีหนี้สินพะรุงพะรังจนหนี้เริ่มท่วมหัวและต้องการปลดหนี้ให้เร็วที่สุด ควรมีแผนการชำระหนี้และปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด เริ่มต้นด้วยการรวบรวมรายการหนี้ทั้งหมดเพื่อให้เห็นภาพรวม จากนั้นก็จัดอันดับหนี้ที่ต้องจ่าย เช่น จ่ายหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน หรือจ่ายหนี้ที่มียอดคงเหลือน้อยที่สุด ส่วนจะเลือกวิธีไหนก็ให้เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด จากนั้นก็หาเงินมาจ่ายหนี้ ที่สำคัญไม่ควรก่อหนี้ใหม่เพิ่ม

วางแผนทางการเงิน

6. วางแผนซื้อประกัน ปัจจุบัน LGBTQ+ สามารถทำประกันได้และประกันจะคุ้มครองทุกอย่างเหมือนปกติ 100% แต่อาจจะต้องแนบหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มน้ำหนักของความสัมพันธ์ เช่น หลักฐานการทำธุรกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะเอกสารทางการเงิน เอกสารราชการ หรือกรณีที่แปลงเพศเรียบร้อยก็สามารถทำประกันได้ โดยต้องชี้แจงข้อมูลให้บริษัทประกันทราบตามเงื่อนไขที่กำหนด

โดยประกันชีวิตที่น่าสนใจทำเป็นฉบับแรก คือ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งเป็นแบบประกันมีทั้งการออมเงินและความคุ้มครองชีวิต โดยการออมเงินจะมีเงินจ่ายคืนเป็นรายงวดตามเวลาที่กำหนด หรือคืนเป็นก้อนใหญ่ก้อนเดียวเมื่อครบสัญญา ส่วนความคุ้มครองชีวิต เมื่อผู้ถือกรมธรรม์เสียชีวิตระหว่างสัญญา ก็จะได้รับเงินก้อนให้คนข้างหลังไว้ใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินตามที่กำหนดในสัญญาของแต่ละแบบประกัน

สำหรับแบบประกันสะสมทรัพย์ มีทั้งระยะเวลาออมเงินแบบระยะสั้น (2 – 5 ปี) ระยะปานกลาง (5 – 15 ปี) และระยะยาวเกิน 15 ปีขึ้นไป ที่สำคัญ สามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพ เช่น คุ้มครองโรคมะเร็ง คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในได้ และในกรณีที่ต้องการซื้อการประกันสุขภาพเพิ่ม

7. วางแผนซื้อที่อยู่อาศัย ปัจจุบันมีสถาบันการเงินบางแห่งที่เปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQ+ สามารถขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย อีกทั้ง สถาบันการเงินที่เปิดกว้างก็จะมีเงื่อนไขและนโยบายที่ต่างกันพอสมควร ดังนั้น ควรสอบถามข้อมูลและพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อขอสินเชื่อให้เหมาะกับตัวเองและผู้กู้ร่วม เช่น สถาบันการเงินบางแห่งกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีรายได้ 50,000 ขึ้นไป ขณะที่บางแห่งกำหนดให้มีรายได้ตั้งแต่15,000 บาทขึ้นไป ทั้งผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วมต้องเป็นพนักงานประจำและมีอายุงานรวมที่ทำงานเดิมและปัจจุบันตั้งแต่2 ปีขึ้นไป หรือผู้กู้ต้องมีเอกสารหรือหลักฐานแสดงความสัมพันธ์หรือการอยู่ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี เช่น ทะเบียนบ้านที่อยู่ด้วยกัน

วางแผนทางการเงิน

8. ลงทุน นอกจากการเก็บออมเงินแล้ว ควรแบ่งเงินไปลงทุนเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งในระยะยาว ด้วยการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ลงทุนในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น หุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ เป็นต้น

9. วางแผนการเกษียณอายุ กลุ่ม LGBTQ+ มีโอกาสน้อยที่จะมีลูก จึงต้องดูแลตัวเองและคู่ชีวิตไปจนแก่เฒ่า ดังนั้น การวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณจึงเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยการเก็บออมเพื่อให้มีเงินใช้จ่ายอย่างสบาย ๆ ได้ตามต้องการ

10. ติดตามข้อมูล นอกจากติดตามข้อมูลข่าวสารด้านการเงิน การลงทุนอย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็ต้องติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิและการคุ้มครอง LGBTQ+ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการเงินด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ข้อบังคับที่อาจส่งผลต่อภาษี ผลประโยชน์ หรือการวางแผนทางการเงินร่วมกัน เป็นต้น

ที่มา : ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK