Personal Finance

เปิด 5 สัญญาณอันตรายหนี้ท่วม เริ่มจ่ายไม่ไหว ทำอย่างไรให้ชีวิตพ้นวิกฤติ!

เปิด 5 สัญญาณอันตรายหนี้ท่วมจ่ายไม่ไหว จ่ายแบบเดือนชนเดือน ไม่มีเงินเก็บ จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ ทำไงดี พร้อมแนวทางแก้ไขที่นี่!!

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากมายที่ช่วยสร้างความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยให้กับผู้บริโภค ทั้งบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด รวมถึงสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ที่ทำให้หลายคนอาจจะช้อปเพลินเกินห้ามใจ รู้สึกตัวอีกทีก็เริ่มมีปัญหาด้านการเงินเสียแล้ว แต่ก่อนที่เราจะใช้จ่ายอย่างเพลิดเพลินจนทำให้หนี้ท่วม ลองมาดูกันสิว่ามีสัญญาณอันตรายอะไรบ้างที่บ่งบอกว่าคุณเริ่มมีหนี้มากเกินไปจนอาจทำให้จ่ายหนี้ไม่ไหว

หนี้ท่วม

สัญญาณที่ 1 : ใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน ไม่มีเงินเก็บ

ปัญหาใช้เงินแบบเดือนชนเดือน เป็นปัญหาสุดจะคลาสสิกของมนุษย์เงินเดือน เงินเดือนเข้าปุ๊ปก็เตรียมจ่ายเลย บางทีก็หมุนเงินทันบ้างไม่ทันบ้างแล้วแต่สภาพคล่องในเดือนนั้นๆ อาการแบบนี้เรียกได้ว่า ชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่มีเงินเหลือ ไม่มีเงินเก็บ และใช้รายได้มากกว่า 70% ไปกับการชำระหนี้

สัญญาณที่ 2 : การเริ่มจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ

การจ่ายหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำทุกๆ เดือน เป็นอาการเริ่มต้นของคนที่เริ่มมีปัญหาด้านการเงิน แสดงว่าเราใช้จ่ายเงินจนเกินตัวจึงต้องจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำแทน อย่างที่ทราบกันว่าอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงมากหรือสูงกว่า 20% ต่อปี เมื่อรวมๆ ดอกเบี้ยแล้ว อาจทำให้เราตกใจได้แบบไม่รู้ตัวเลยทีเดียว คนส่วนใหญ่มักจะมองเพียงแค่ระยะสั้นเดือนต่อเดือนเท่านั้น ขอแค่มีจ่ายขั้นต่ำก็พอแล้ว แต่ในความเป็นจริงเราควรมองระยะยาวว่า การจ่ายขั้นต่ำจะทำให้มีต้นทุนทางการเงินเพิ่ม เพราะต้องจ่ายทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สัญญาณที่ 3 : การยอมขายทรัพย์สินต่าง ๆ

การยอมขายทรัพย์สินต่างๆ เช่น หุ้น กองทุน ทอง อสังหาริมทรัพย์ หรืออะไรก็ตามที แสดงว่าเรากำลังร้อนเงินถึงกับต้องตัดใจยอมขายทรัพย์สินเหล่านี้ไปทั้งที่ไม่อยากขาย เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินไปใช้อะไรบางอย่าง เช่น จ่ายหนี้ ใช้จ่ายอื่น ๆ หรือนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะว่ามีเงินเหลือไม่พอใช้

หนี้ท่วม

สัญญาณที่ 4 : เริ่มชำระหนี้ล่าช้า

การเริ่มชำระหนี้ต่างๆ ล่าช้า เป็นสัญญาณเตือนที่สะท้อนได้ว่าคุณเริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหว ถ้ายังผ่อนไม่ตรงเวลาตามเงื่อนไขที่สถาบันการเงินกำหนดจะทำให้เสียเครดิต และอาจมีปัญหาตามมาอีกมากมาย เพราะฉะนั้นควรรีบหาทางแก้ก่อนจะสายเกินไป อ่านบทความเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเมื่อเริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหว คลิก

สัญญาณที่ 5: ยืมเงินจากเจ้าหนึ่งเพื่อไปจ่ายอีกเจ้าหนึ่ง

พฤติกรรมแบบนี้แสดงว่าหมุนเงินไม่ทันแล้ว ถึงขั้นต้องไปยืมเงินคนอื่นๆ บางทีไมใช่แค่เรื่องเงิน แต่อาจต้องเสียเพื่อน เสียญาติพี่น้อง หรือผิดใจกับคนรักกัน เพราะเรื่องของการยืมเงินแล้วไม่คืนตามที่ตกลงไว้ หรือบางคนนิยมเปิดบัตรกดเงินสดหลายใบเพื่อนำเงินจากเจ้าหนึ่งไปจ่ายปิดหนี้อีกเจ้าหนึ่งไปเรื่อยๆ แต่อย่าลืมว่าการทำแบบนี้จะทำให้ภาระดอกเบี้ยก็ยิ่งทวีคูณทบขึ้นไปอีก หรือยิ่งไปกว่านั้นบางคนยอมไปกู้หนี้นอกระบบ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยมหาโหดมาก แถมยังเสี่ยงอันตรายอาจมีคนตามมาทวงหนี้ถึงหน้าบ้านได้ หากจ่ายหนี้ไม่ตรงเวลา

หนี้ท่วม

คนมีปัญหาหนี้ แบ่งเป็น 2 ประเภท

1. ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้ แต่เริ่มรู้สึกว่าจะจ่ายไม่ไหว

เป็นกลุ่มที่จ่ายค่างวดบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดขั้นต่ำทุกใบ และเริ่มคิดว่าจะจ่ายไม่ไหว

  • หยุดใช้บัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสด

ควรเริ่มมีวินัยการใช้จ่ายกับตัวเอง โดยหันมาทำสมุดรายรับรายจ่าย วางแผนทางการเงิน พร้อมทั้งใช้เงินสดให้มากขึ้น เพื่อคำนวนรายได้และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่มี รวมถึงแบ่งสัดส่วนของเงินในการนำไปชำระหนี้สินให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการลดปัญหาการใช้บัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดในการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยและหยุดสร้างหนี้ใหม่

  • หาเงินก้อนมาปิดหนี้

การหาเงินก้อนมาปิดหนี้จะทำให้ดอกเบี้ยไม่เดินต่อ โดยนำทรัพย์สินที่มี เช่น รถ ที่ดิน เป็นต้น มาขายเพื่อนำเงินก้อนมาปิดหนี้ทั้งหมด หรือหากเป็นพนักงานบริษัทให้สอบถามฝ่ายบุคคล โดยปกติบริษัทจะมีสวัสดิการให้พนักงานกู้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป โดยสามารถนำเงินกู้มาปิดหนี้ทั้งหมด และผ่อนจ่ายหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลดังกล่าวเพียงก้อนเดียว

  • การประนอมหนี้

หากรู้ตัวว่าเริ่มผ่อนชำระบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดขั้นต่ำไม่ไหว ทางแรกที่สามารถทำได้ คือ การติดต่อเพื่อขอเจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ โดยเจ้าหนี้ (สถาบันการเงินเจ้าของบัตร) อาจจะพิจารณายืด หรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้นเพื่อให้ยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือนลดลง หรือลดดอกเบี้ยให้เหมาะกับสภาพทางการเงินในปัจจุบันของลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้เองก็สามารถแจ้งได้ว่าผ่อนชำระไหวในจำนวนเงินเท่าไหร่ แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับเกณฑ์การพิจารณาของสถาบันการเงินนั้น ๆ ด้วย

  • การรีไฟแนนซ์หรือรวมหนี้บัตรเครดิต

การรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตก็คล้าย ๆ กับการรีไฟแนนซ์บ้าน ก็คือการขอสินเชื่อกับทางสถาบันการเงินแห่งใหม่ที่มีข้อเสนอที่ดีกว่า เช่น มียอดที่ต้องผ่อนชำระแต่ละเดือนลดลง หรือมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่เราผ่อนจ่ายอยู่ และนำเงินที่ขอสินเชื่อในส่วนนั้นมาชำระหนี้บัตรเครดิตที่เรามีอยู่ทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของเราใหม่ ทำให้เราสามารถรวมหนี้บัตรเครดิตที่มีอยู่หลายใบให้เป็นหนี้ก้อนเดียวได้ เปลี่ยนจากการจ่ายขั้นต่ำแต่ละใบเป็นจ่ายแบบมีระยะเวลา และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือนก็จะเบาลง

หนี้ท่วม

2. มียอดค้างชำระ อยู่ในขั้นจ่ายไม่ไหว

เป็นกลุ่มที่เริ่มมีการจ่ายค่างวดล่าช้าต่อเนื่อง หรือมียอดค้างชำระ หรือผิดนัดชำระหนี้

  • ปรึกษาสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้

การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นการเปลี่ยนเงื่อนไขการจ่ายหนี้เพื่อให้เรายังสามารถจ่ายหนี้ได้โดยไม่ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้อาจทำให้ลูกหนี้ถูกคิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และมีประวัติค้างจ่ายในข้อมูลเครดิตบูโร ให้ปรึกษาสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้บัตรนั้น ๆ ว่าสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ไหม เช่น ลดค่างวดในแต่ละเดือนโดยการขยายเวลาชำระหนี้ออกไป หรือเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้ผ่านช่วงที่ได้รับผลกระทบนี้ไปได้ เช่น ตกงาน เมื่อมีงานทำหรือมีรายได้ตามปกติแล้วค่อยกลับมาจ่ายค่างวดกับสถาบันการเงินเหมือนเดิม แบบนี้ก็พอจะทำได้

  • โครงการคลินิกแก้หนี้

โครงการคลินิกแก้หนี้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นหนี้เสีย (NPL) ในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน คลินิกแก้หนี้ คือ หน่วยงานกลางที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้แทนเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินและผู้ประกอบการทางการเงินทุกรายของลูกหนี้อย่างครบวงจร ภายใต้เกณฑ์และกรอบกฎหมายที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งมีหลักการเหมือนกับการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต นั่นก็คือการปรับโครงสร้างหนี้ แต่คลินิกแก้หนี้จะเหมาะสำหรับคนที่มีประวัติชำระไม่ดี และผ่อนไม่ไหวแล้วเท่านั้น ดูรายละเอียดได้ที่ www.debtclinicbysam.com

ขอบคุณข้อมูลจาก Kiatnakin Phatra Bank

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK