Stock - Finance

แกะกล่องธุรกิจ ‘สยามพิวรรธน์’ หลังข่าวตบเท้าเข้าตลาดหุ้น

แกะกล่องธุรกิจ “สยามพิวรรธน์” หลังข่าวตบเท้าเข้าตลาดหุ้น พร้อมเปิดขุมทรัพย์ ใหญ่แค่ไหน

กลายเป็นประเด็นที่สร้างความฮือฮามากทีเดียว เมื่อล่าสุดสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด (Siam Piwat) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และศูนย์การค้าชั้นนำของประเทศไทย อยู่ระหว่างการเตรียมตัวเพื่อพิจารณาเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในสิ้นปี 2567 นี้

แหล่งข่าวของ Bloomberg ระบุว่า สยามพิวรรธน์ มีเป้าหมายการระดมทุนที่ประมาณ 500 – 750 ล้านดอลลาร์ หรือราว 17,000 – 26,000 ล้านบาท ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะกลายเป็นการระดมทุนที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ปีของตลาดหุ้นไทย

แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยกับสถาบันทางการเงิน และการตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา ซึ่งก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่บริษัทอาจตัดสินใจยกเลิกแผน IPO

สยามพิวรรธน์

ย้อนกลับไปในช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ เคยเปิดเผยถึงแผนการขยายธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร และบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน รวมถึงพูดว่ากำลังพิจารณาเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย

เปิดขุมทรัพย์ “สยามพิวรรธน์” ใหญ่แค่ไหน

สยามพิวรรธน์ก่อตั้งขึ้นในปี 2502 ภายใต้ชื่อ บริษัท บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส์ จำกัด เริ่มต้นธุรกิจแรกก็คือ โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตอล ตั้งอยู่บริเวณถนนพระราม 1 ทำเลที่ตั้งของศูนย์การค้าสยามพารากอนในปัจจุบัน

ก่อนที่ในปี 2516 จะหันเข้าเข้าสู่ธุรกิจศูนย์การค้าเป็นครั้งแรกอย่างศูนย์การค้าสยาม หรือสยามเซ็นเตอร์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง และขยายต่อยอดกลายมาเป็นธุรกิจหลักของบริษัท กระทั่งในปี 2545 จะตัดสินใจปิดกิจการโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตอล เพื่อสร้างศูนย์การค้าสยามพารากอน และเปลี่ยนมาใช้ชื่อบริษัทว่า “สยามพิวรรธน์” ในปี 2546

ปัจจุบันบริษัทประกอบธุรกิจหลักเป็นเจ้าของศูนย์การค้าชั้นนำหลายแห่ง อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และเป็นหนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอาคารสำนักงาน ได้แก่ อาคารสยามพิวรรธน์ทาวเวอร์, ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ได้แก่ Paragon Department Store ที่ร่วมทุนกับกลุ่มเดอะมอลล์ และ Siam Takashimaya ที่ร่วมทุนกับกลุ่มทาคาชิมายะ, ธุรกิจศูนย์การประชุม เช่น Royal Paragon Hall และ True Icon Hall, ธุรกิจค้าปลีก เช่น Loft, Iconcraft และ Ecotopia, ธุรกิจร้านอาหาร เช่น Blue by Alain Ducasse รวมไปถึง ธุรกิจ Omni Channel อย่าง Onesiam Superapp

สำรวจผลประกอบการของสยามพิวรรธน์ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าในช่วง 3 ปีย้อนหลังมีรายได้และกำไร ดังนี้

สยามพิวรรธน์ขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในหุ้น MBK

รู้ไหมว่าแม้ตอนนี้สยามพิวรรธน์จะยังไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้น แต่เราสามารถลงทุนทางอ้อมผ่านการถือหุ้น MBK หรือ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของสยามพิวรรธน์ในสัดส่วน 49% และจากกระแสข่าวดังกล่าวที่สยามพิวรรธน์ พิจารณา IPO เข้าตลาดหุ้น ก็ทำให้ราคาหุ้น MBK ในวันที่ 21 มีนาคม 2566 ปรับตัวขึ้นทันที 15.92%

ทีนี้หากเราลองคำนวณมูลค่าสยามพิวรรธน์กันคร่าวๆ ด้วยการนำกำไรปี 2565 ที่ 1,330 ล้านบาท ไปคูณกับ P/E เฉลี่ยกลุ่มค้าปลีกในตลาดหุ้นไทยที่อยู่ระดับ 30 เท่า แปลว่ามูลค่าของสยามพิวรรธน์จะอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่าสัดส่วนที่ MBK ถือหุ้นสยามพิวรรธน์ที่ 49% สามารถคิดเป็นมูลค่าถึง 20,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน