Stock - Finance

เปิดโผ 4 ตัวเต็งตั้ง ‘Virtual Bank’ ปั้นผลิตภัณฑ์การเงินรูปแบบใหม่

เปิดโผ 4 ตัวเต็งตั้ง “Virtual Bank” ปั้นผลิตภัณฑ์การเงินรูปแบบใหม่ ธปท. ประชุมชี้แจงให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาต วันที่ 19 มีนาคมนี้ 

จากกรณีล่าสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงรายละเอียดการขออนุญาตการประกอบธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank ที่สนับสนุนให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มลูกค้ารายย่อยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและสินเชื่อได้มากขึ้น

เป้าหมายของ Virtual Bank คือต้องการเพิ่มการแข่งขันของธุรกิจการเงิน ผ่านการลดต้นทุนด้วยการให้บริการรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเชื่อว่าจะนำมาสู่การลดดอกเบี้ย ลดค่าธรรมเนียม และขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินไปสู่ SMEs ขนาดเล็ก และประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งมีรายได้ที่ไม่แน่นอน หรือกลุ่มคนที่มีประวัติการเงินกับธนาคารไม่เพียงพอ

4 ตัวเต็ง ตั้ง “Virtual Bank”

ทั้งนี้ ธปท. กล่าวว่าในวันที่ 19 มีนาคมนี้ จะจัดประชุมชี้แจงให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตทำธุรกิจ Virtual Bank และ 20 มีนาคม – 19 กันยายน จะเปิดรับคำขออนุญาต หลังปิดรับคำขออนุญาตแล้ว ธปท. จะพิจารณาเอกสารและข้อมูลเพื่อคัดเลือกผู้ที่สมควรได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank และส่งให้กระทรวงคลังพิจารณา ประกาศผลคัดเลือกในดือนมิถุนายน 2568 หรือเร็วกว่านั้น จากนั้นผู้ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อเปิดดำเนินการภายใน 1 ปี หรือเดือนมิถุนายน 2569

4 ตัวเต็ง

วิเคราะห์ 4 หุ้นเด่น Virtual Bank

ล่าสุดบทวิเคราะห์ บล. หยวนต้า มีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่ามีหุ้น 4 กลุ่มที่คาดจะได้รับประโยชน์ และมีโมเมนตัมเชิงบวกจากการจัดตั้ง Virtual Bank นั่นคือ

1. กลุ่มพันธมิตร KTB-ADVANC-OR-GULF: เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากมีเงินทุนและความสามารถในการเข้าถึงฐานลูกค้าจำนวนมาก รวมถึงมีแกนนำอย่าง KTB ที่มีความชำนาญในการทำธุรกิจธนาคารในประเทศไทย

2. กลุ่มพันธมิตร SCB และ Kakao Bank: การร่วมมือระหว่าง SCB ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การทำธุรกิจธนาคาร และมีฐานลูกค้าที่ครอบคลุม ผนึกกำลังกับ Kakao Bank ที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ Virtual Bank ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้

3. กลุ่ม CP นำโดย Ascend Group: ซึ่งมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่และเป็นหนึ่งในกลุ่มทุนที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยจะมีการลงทุนร่วมกับพันธมิตรจากต่างประเทศที่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด

4. กลุ่มอื่นๆ ที่สนใจ ได้แก่ JMART และ KB Financial Group: แต่ยังไม่มีการเปิดเผยแผนสำหรับธุรกิจ Virtual Bank

4 ตัวเต็ง

4 ตัวเต็ง ชี้กลุ่ม ‘KTB-ADVANC-OR-GULF’ มีศักยภาพแข่งขันสูง

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยมองว่ากลุ่มพันธมิตร KTB-ADVANC-OR-GULF จะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพแข่งขันสูงที่สุด เนื่องจากมีฐานลูกค้าซึ่งเป็นช่องทางในการขยายสินเชื่อและรับเงินฝาก ทั้งจากฐานลูกค้าเดิมของธนาคารที่ต้องการสินเชื่อเพิ่มเติม ฐานลูกค้าเครือข่ายโทรศัพท์ของ ADVANC

นอกจากนี้ ยังมีฐานลูกค้าของ OR ตลอดจนมีข้อมูลลูกค้าจำนวนมาก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ Virtual Bank สามารถนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาความต้องการและความเสี่ยงของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ ที่สำคัญคือการมีธนาคาร KTB เป็นแกนหลักในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมีความชำนาญและประสบการณ์เกี่ยวกับกฎระเบียบ รวมถึงเกณฑ์การทำธุรกิจธนาคารภายใต้การควบคุมของ ธปท. และเป็นกลุ่มที่มีเงินทุนขนาดใหญ่อีกด้วย

ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารอื่นๆ นอกเหนือจาก KTB และ SCB ยังไม่แสดงความสนใจในการเข้าร่วมในธุรกิจ Virtual Bank เนื่องจากมองว่า มีค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูง และมีความทับซ้อนกับ Digital Platform ของตัวเอง

สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการมาขอ Virtual Bank คือกลุ่มสินเชื่อเพื่อการบริโภคอย่าง KTC และ AEONTS ซึ่งมีสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลสูง คาดว่าในช่วงเริ่มแรกของ Virtual Bank จะเริ่มต้นจากการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีขนาดสินเชื่อต่อรายไม่สูงมาก คาด 2-3 หมื่นบาทต่อคน ทำให้กลุ่มลูกค้าทับซ้อนกันกับผู้ประกอบการสินเชื่อเพื่อการบริโภคในตลาด

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน