Stock - Finance

กางสถิติ 10 ปี ‘IPO ไทย’ หุ้นการเงิน-พลังงาน โดดเด่นสุด!!

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยสถิติสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ:IPO) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556 จนถึงปี 2565) ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ทั้งหมด 305 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทที่ระดมทุนในตลาด SET จำนวน 152 บริษัท และเข้าระดมทุนในตลาด mai จำนวน 153 บริษัท

นอกจากนี้ บริษัทเข้าใหม่ยังมีการกระจายตัวอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย สำหรับกลุ่มที่มีสัดส่วนจำนวนบริษัท IPO มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มบริการ (Services) และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (Property & Construction)

แต่เมื่อมองในแง่ของ Performance ทั้งผลประกอบการ การเติบโตของรายได้และกำไร การเติบโตของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) พบว่าหุ้นในกลุ่มการเงิน (Financials) และพลังงาน (Resources) มีความโดดเด่นที่สุด

โดย 78% ของหุ้นกลุ่มการเงิน และ 76% ของหุ้นกลุ่มพลังงาน มีกำไรสุทธิเติบโตทุกปีในช่วง 3 ปีหลังเข้า IPO นอกจากนี้ ยังมีการเติบโตของมูลค่า Market Cap. ที่สูง โดยมีหุ้นการเงิน 5 บริษัท และหุ้นพลังงาน 5 บริษัท ที่สามารถเติบโตจนได้ย้ายตลาดจาก mai สู่ SET

 

ipo

สำหรับสถิติที่น่าสนใจอื่นๆ ในด้านผลประกอบการช่วง 3 ปีหลังเข้า IPO พบว่าเติบโตได้ดี โดย 40-50% ของบริษัทที่ IPO มีผลกำไรเฉลี่ยเติบโตมากกว่า 20% ต่อปี และ 65% มีผลกำไรเฉลี่ยเติบโตทุกปี อีกทั้งมี เพียง 25 บริษัท หรือคิดเป็น 8% ของทั้งหมด ที่มีผลประกอบการรวมขาดทุนในช่วง 3 ปีหลังเข้า IPO

ส่วนการเติบโตของรายได้ พบว่าบริษัทมีรายได้ช่วง 3 ปีหลัง IPO เติบโตดีมาก เกือบ 80% มีรายได้เฉลี่ยเติบโตทุกปี ซึ่งประมาณ 30% ของบริษัทเข้าไอพีโอทั้งในตลาด SET และ mai มีรายได้เฉลี่ยเติบโตมากกว่า 20% ต่อปีอีกด้วย

สุดท้ายคือด้านการเติบโตของมูลค่า Market Cap. พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของบริษัท IPO ในตลาด SET และประมาณ 70% ในตลาด mai เติบโตได้ดีหลังเข้าจดทะเบียน พร้อมทั้งยังพบ 21 บริษัทที่เติบโตจนได้ย้ายจากตลาด mai ไปที่ SET หรือคิดเป็น 14% ของหุ้น IPO ทั้งหมด ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเกินครึ่งหนึ่งของ บริษัทเหล่านี้ใช้เวลาเพียงไม่เกิน 3 ปี เพื่อที่จะเติบโตและได้ย้ายตลาด

ทั้งนี้ การที่บริษัทเข้ามา IPO นอกจากตัวบริษัทจะได้ใช้กลไกตลาดทุนเพื่อระดมทุนไปขยายธุรกิจให้เติบโตได้แล้ว ในมุมของผู้ลงทุนบริษัท IPO เหล่านี้ยังเป็นทางเลือกให้สามารถลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น

shutterstock 2129026394

อย่างไรก็ดี ในปี 2566 นี้ จะเห็นผลตอบแทนหุ้น IPO ยังไม่โดดเด่นนัก จากหุ้นเข้าใหม่จำนวน 18 บริษัท

ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังยังมีอีก 9 บริษัท ที่กำลังเข้าคิวจ่อเสนอขาย IPO อย่างต่อเนื่องซึ่งประกอบไปด้วยหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ การแพทย์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ พลังงาน วัสดุอุตสาหกรรม ขนส่งและโลจิสติกส์ อาหารและเครื่องดื่ม เทคโนโลยี และบริการ ดังนี้

PHG หรือ บริษัท แพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

SCGC หรือ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน)

PPPGC หรือ บริษัท พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ จำกัด (มหาชน)

PSP หรือ บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน)

SINO หรือ บริษัท ไซโน โลจิสติกส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

KCG หรือ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

BKKGI หรือ บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน)

I2 หรือ บริษัท ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน)

GFC หรือ บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)

shutterstock 2075188639

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน