Stock - Finance

รีวิว ‘หุ้นแบงก์’ มอง ‘แนวโน้มปี 2566’

หลังจากที่หุ้นกลุ่มธนาคาร (Banking) ได้ประกาศผลประกอบการปี 2565 ออกมาครบถ้วนแล้ว ซึ่งภาพรวมของกำไรถือว่าต่ำกว่าที่ตลาดคาดค่อนข้างมาก โดยกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 4/2565 ลดลง 23% จากช่วงปีก่อน ส่วนปี 2565 เติบโต 9% จากปีก่อน

ปัจจัยที่เกิดขึ้นมาจากการที่ธนาคารบางแห่งด้วยเหตุผลเฉพาะตัว ไม่ใช่ปัจจัยของทั้งกลุ่ม อาทิ KBANK ที่มีการตั้งสำรองจำนวนมาก BBL มีผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงิน ที่วัดมูลค่าด้วยวิธีมูลค่ายุติธรรม (FVTPL) และ SCB ขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยวิธี FVTPL และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างกลุ่มที่เกิดขึ้นครั้งเดียว

หุ้นแบงก์

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ (innovestx) ได้สรุปแง่มุมต่างๆ ของผลประกอบการหุ้นธนาคาร เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น แบ่งเป็น 5 ประเด็นสำคัญ

1. คุณภาพสินทรัพย์ ธนาคารส่วนใหญ่ (ยกเว้น BBL และ SCB) รายงานการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ KBANK และ KKP ที่รายงานการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมาก อีกทั้งธนาคารส่วนใหญ่มี NPL ค่อนข้างทรงตัว ยกเว้น KKP และ KBANK ที่มี NPL เพิ่มขึ้น

2. การเติบโตของสินเชื่อ อ่อนแอกว่าคาด โดยสินเชื่อของกลุ่มธนาคารอยู่ในระดับทรงตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา และเติบโตต่ำ 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการเติบโตของสินเชื่อในไตรมาส 4/2565 ถูกฉุดรั้งโดยการชำระคืนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อภาครัฐจำนวนมาก

3. NIM ดีกว่าคาด เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการมีสัดส่วนสินเชื่อกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงเพิ่มมากขึ้น

4. Non-NII ธนาคารส่วนใหญ่มี non-NII ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เกิดจากกำไร/ขาดทุนจากการวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงินด้วยวิธี FVTPL รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ (รวมรายได้จากการประกันภัยสุทธิ) ลดลง

5. อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาตามฤดูกาล และค่อนข้างทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

หุ้นแบงก์

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการปี 2566 ได้ปรับระมาณการเพิ่มขึ้น คาดว่าอัตราการเติบโตของกำไรกลุ่มธนาคารจะเร่งตัวขึ้นสู่ 22% ขณะเดียวกันได้ปรับประมาณการ NIM ปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.18% เพื่อสะท้อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในเดือนมกราคม โดยธนาคารส่วนใหญ่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แต่คงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้เท่าเดิม เพื่อชดเชยการปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ

นอกจากนี้ ประเมินว่า NIM จะขยายตัว 0.24% สินเชื่อจะเติบโต 5% credit cost จะลดลง 0.06% รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะลดลง 3% และรายได้ค่าธรรมเนียมจะทรงตัว ขณะที่อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้จะลดลงเล็กน้อย

สุดท้ายนี้จึงเลือก BBL และ KTB เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มธนาคาร เพราะมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์มากเป็นอันดับต้นๆ จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงมีความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ต่ำกว่าธนาคารอื่นๆ และ valuation น่าสนใจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน