Startup

‘เอ็นไอเอ’ เปิดช่องสตาร์ทอัพ ขอรับรองเพื่อใช้สิทธิยกเว้น ‘Capital Gain Tax’

เอ็นไอเอเปิดช่องทางสตาร์ทอัพ ขอรับรองเพื่อใช้สิทธิยกเว้น Capital Gain Tax เพิ่มหนุนเงินลงทุนธุรกิจนวัตกรรรมสะพัด ดึงทาเลนท์ไทย-ต่างชาติ 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า นโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ ประเทศแห่งนวัตกรรม ทำให้ไทยกลายเป็นหนึ่งหมุดหมายสำคัญ ที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจอยากเดินทางเข้ามาอยู่อาศัยและทำธุรกิจ

ปก 7

 

 

สำหรับไทยเป็นประเทศที่มีต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ไม่สูงนัก มีค่าครองชีพระดับปานกลาง พร้อมด้วยนโยบายเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจหลายโครงการ โดยเฉพาะการออกมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรจากการขายหุ้นที่ได้ลงทุนในสตาร์ทอัพไทย (Capital Gains Tax) ให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นโยบาย Capital Gains Tax นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างแรงจูงใจ และดึงดูดคนมีทักษะสูงจากต่างประเทศ ให้เข้ามาทำงาน หรือลงทุนในประเทศมากขึ้น

มาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมสรรพากร  สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานพันธมิตร โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนให้สตาร์ทอัพไทย-ต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องผ่านการรับรองจาก NIA สวทช. หรือดีป้า เกิดการระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้นและง่ายขึ้น ส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการภาษีนี้ จะทำให้มีเงินลงทุนในสตาร์ทอัพไทยเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ภายในปี 2568 รวมทั้งเกิดการจ้างงาน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ต่ำกว่า 5 แสนอัตรา โดยมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่วันที่ประกาศใช้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2575

ขณะที่ NIA เป็นอีกหนึ่งหน่วยงาน ที่สามารถให้การรับรองสตาร์ทอัพ ที่ต้องการขอใช้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จะต้องลงทุนในธุรกิจที่ประกอบด้วยเทคโนโลยี ในรูปแบบของการประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต หรือให้บริการในธุรกิจหลัก และทำให้เกิดรายได้ 80% ต้องมีการถือครองหุ้นไม่น้อยกว่า 24 เดือน

เอสเอ็มอี

ธุรกิจที่ได้สิทธิประโยชน์จากการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

  • อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
  • อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพ
  • อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
  • อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
  • อุตสาหกรรมหุ่นยนต์
  • อุตสาหกรรมการบิน
  • อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
  • อุตสาหกรรมดิจิทัล
  • อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
  • อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
  • อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน
  • การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการวิจัยพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย
  • อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามที่คณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบ

ภาพประกอบ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ

ส่วนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่นักลงทุนจะได้รับนั้น หากเป็นการลงทุนโดยตรงในสตาร์ทอัพไทย จะยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรจากการโอนขายหุ้น (Capital Gains Tax) ให้กับนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล

กรณีเป็นการลงทุนผ่านบริษัท ซึ่งประกอบการเงินร่วมลงทุน CVC หรือถือหน่วยทรัสต์ ในทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน PE Trust ไทย จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเช่นกัน

ในปี 2566 นี้ คาดว่าจะมีสตาร์ทอัพยื่นขอส่งเสริมกับ NIA ไม่ต่ำกว่า 20-30 ราย ทั้งสตาร์ทอัพในกลุ่มนวัตกรรมและดีพเทค เช่น AI หุ่นยนต์ เทคโนโลยีเสมือนจริง ตลอดจนกลุ่ม ARITECH กลุ่มนวัตกรรมการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ NIA ผลักดันให้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ภายใต้ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า กลุ่มสตาร์ทอัพในด้านเทคโนโลยีเชิงลึก น่าจะเป็นกลุ่มที่ขอรับรองเพื่อใช้สิทธิการยกเว้น Capital Gain Tax เข้ามามากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเทรนด์ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ และมีโอกาสเติบโตสูง แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังมีดีพเทคเกิดขึ้นไม่มาก แต่ก็มีช่องว่างและโอกาส เอื้อให้บริษัทและนักลงทุนเข้ามาดำเนินธุรกิจได้

ภาพ ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี 3

นอกจากการยกเว้น Capital Gain Tax แล้ว NIA ยังมีโครงการที่ช่วยอำนวยความสะดวก สร้างแรงจูงใจ ดึงดูดคนที่มีทักษะสูง และนักลงทุนจากต่างประเทศ ให้เข้ามาทำงาน หรือลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น โครงการ SMART Visa หรือ วีซ่าประเภทพิเศษ ที่ NIA ทำงานร่วมกับ BOI เพื่อช่วยให้นักลงทุนหรือผู้ประกอบการสามารถเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลก (Global Startup Hub) เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพทั้งไทยและต่างชาติแบบ One Stop Service เป็นต้น

สตาร์ทอัพที่สนใจ สามารถดาวน์โหลด และกรอกข้อมูลในแบบคำขอ พร้อมแนบเอกสารไปที่อีเมล์ [email protected] ตั้งแต่วันที่ 1-10 ของทุกเดือน โดยสำนักงานจะดำเนินการประกาศผลการรับรองภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับเอกสารฉบับสมบูรณ์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nia.or.th/service/Capital-Gains-Tax อีเมล [email protected] หรือ เบอร์ 02 017 5555 ต่อ 303, 563-564

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo