Politics

น่ากังวล! นักวิจัยเผย ‘ไวรัสไฮบริด’ RSV+ไข้หวัดใหญ่ ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรง เร่งผลิตวัคซีนป้องกัน

น่ากังวล นักวิจัยเผย ‘ไวรัสไฮบริด’ ลูกผสมระหว่าง RSV-ไข้หวัดใหญ่ ผู้ติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง แพร่เร็ว เร่งผลิตวัคซีนป้องกัน

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics กล่าวถึงกรณีที่นักวิจัย ได้ทดลองผสมอนุภาคไวรัสอาร์เอสวี และไวรัสไข้หวัดใหญ่ และพบว่า ไวรัสทั้งสองสามารถหลอมรวมกันได้ ข้อความดังนี้

ไวรัสไฮบริด

น่ากังวลหรือไม่กับ “ไวรัสไฮบริด” อันเกิดจากการหลอมรวมระหว่างอนุภาคไวรัสสองประเภทคือ “ไวรัสอาร์เอสวี”  และ “ไวรัสไข้หวัดใหญ่” เข้าด้วยกันโดยพบว่าสามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ดี

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ในประเทศอังกฤษได้ทดลองนำไวรัสสองประเภทคือ  ไวรัสอาร์เอสวี  (RSV: Respiratory Syncytial Virus) และไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นอาร์เอ็นเอไวรัสทั้งคู่ (ภาพ1) เข้ามาเลี้ยงรวมกันกับเซลล์ปอดที่เพาะเลี้ยงในหลอดทดลองเดียวกัน ปรากฏว่าแทนที่ไวรัสทั้งสองประเภทจะแย่งชิงแทรกตัวเข้าสู่เซลล์ ปิดโอกาสไวรัสอีกประเภทที่จะตามเข้าเซลล์มา ดังเช่นในกรณีของไวรัสโคโรนา 2019

ไวรัสไฮบริด

ไวรัสหลอมรวมกัน

แต่กลับพบว่าผนังของอนุภาคของไวรัสอาร์เอสวีและไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีการหลอมรวมกันโดยมีจีโนมแยกจากกัน กลายเป็นไวรัสลูกผสมชนิดใหม่ มีรูปร่างคล้ายต้นปาล์ม – โดยไวรัส RSV ดูเสมือนเป็นลำต้น ส่วนใบมาจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ (ภาพ2)

โดยรูปสัณฐานเดิมของอนุภาคไวรัส RSV เมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจะพบว่ามีหลากหลายรูปแบบ เช่น ทรงกลม ทรงเรียวยาว และทรงไม่สมมาตร ในขณะที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีสัณฐานเป็นทรงกลมหรือทรงรี (ภาพ3)

ไวรัสไฮบริด

ผู้ติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง

จากการทดสอบในหลอดทดลองพบว่าไวรัสลูกผสมระหว่างไวรัส RSV และไวรัสไข้หวัดใหญ่ เข้าถึงเซลล์เป้าหมายได้หลากหลายขึ้น เพราะเดิมไวรัสไข้หวัดใหญ่จะแพร่ติดต่อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่นเซลล์จมูก ลำคอ และหลอดลม ในขณะที่ ไวรัส RSV จะเข้ารุกรานระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เซลล์หลอดลมและปอด อันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดบวมในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิตหลายพันคนในแต่ละปี

แต่ไวรัสลูกผสมที่เกิดขึ้นในหลอดทดลอง หากสามารถมาระบาด คาดว่าน่าจะสามารถติดเชื้อได้ทั้ง จมูก ลำคอ หลอดลม และ ปอด ทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสลูกผสม อาจมีการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงมากกว่า ที่ติดเชื้อไวรัส RSV หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ เพียงประเภทใดประเภทหนึ่ง

ไวรัสลูกผสมสามารถแพร่เชื้อไปยังเซลล์ข้างเคียงได้ แม้ในบริเวณนั้นมีแอนติบอดีต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งปรกติจะสามารถขัดขวางการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าสู่เซลล์ได้

ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ นักวิจัยสังเกตเห็นแอนติบอดีจับติดกับเปลือกนอกของไวรัสลูกผสมบริเวณที่เป็นส่วนของไวรัสไข้หวัดใหญ่  แต่ไวรัสลูกผสมยังสามารถใช้โปรตีนเปลือกนอกในส่วนของไวรัส RSV ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ในการเกาะกับผิวเซลล์ปอดและแทรกตัวเข้าสู่เซลล์ได้อยู่ดี

แสดงให้เห็นว่าอนุภาคไวรัสไฮบริด ได้อาศัยส่วนเปลือกของไวรัส RSV ที่ไม่มีแอนติบอดีมาบล็อก เป็นเสมือนม้าโทรจันนำไวรัสไข้หวัดใหญ่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเข้าสู่เซลล์

แต่อย่าเพิ่งด่วนกังวล เพราะเราพบไวรัสลูกผสมเพียงในห้องปฏิบัติของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์เท่านั้น ยังไม่มีรายงานว่าตรวจพบไวรัสลูกผสมลักษณะนี้ก่อโรคในมนุษย์

ไวรัสไฮบริด

เร่งผลิตวัคซีนป้องกัน

นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่กำลังเร่งผลิตวัคซีนชนิด mRNA ที่เป็นวัคซีนรวม (combined vaccine) ระหว่างไวรัสโคโรนา 2019-ไวรัสไข้หวัดใหญ่-ไวรัส RSV ในการฉีดเพียงเข็มเดียว ให้กับเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจอันเนื่องมาจากไวรัส

โดยจะเริ่มทำการวิจัย(ในคน)ระยะที่หนึ่ง (Clinical Trial phase I) ปลายปี 2565 ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นในสัตว์ทดลองพบว่า สามารถกระตุ้นภูมิกันต่อไวรัสทั้งสามประเภทได้สูงเป็นที่น่าพอใจไปพร้อมกัน อันคาดว่าน่าจะสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสลูกผสม ระหว่างไวรัสโคโรนา 2019-ไวรัสไข้หวัดใหญ่-ไวรัส RSV ได้ด้วย

ดังนั้นการระบาดของเชื้อไวรัสลูกผสมหากเกิดขึ้นในอนาคตอาจจะยากที่จะติดต่อในเด็กที่ได้รับการฉีดวัคซีนรวม (combined vaccine) ระหว่างไวรัสโคโรนา 2019-ไวรัสไข้หวัดใหญ่-ไวรัส RSV

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo