Politics

‘บิ๊กตู่’ ร่ายยาวปม ‘เหมืองทองอัครา’ ไม่ได้อยากยึดเป็นของรัฐ ฝ่ายค้านอย่าบิดเบือน

นายกฯ ชี้แจงกรณีเหมืองทองอัครา คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ย้ำ ไม่ได้ต้องการทำเหมืองหรือยึดเหมืองมาเป็นของรัฐ  ซัดกลับฝ่ายค้าน อย่าบิดเบือน คิดไปเอง

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2565) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ชี้แจงถึงข้อกล่าวหาจากฝ่ายค้าน โดย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปการชี้แจงของนายกรัฐมนตรี ดังนี้

เหมืองทองอัครา

กรณีเหมืองทองอัครา ต้องทำความเข้าใจที่ตรงกันก่อนว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นจากอะไร รัฐบาลในทุกสมัยมีหน้าที่พิจารณาการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างเหมาะสม

โดยสถานการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2535-2544 รัฐบาลในช่วงนั้น ได้เห็นชอบตามกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ. 2510 เชิญชวนให้มีการลงทุนด้วยการลดค่าภาคหลวง ออกใบอนุญาตสำรวจ ออกใบอนุญาตประทานบัตร และใบอนุญาตการประกอบโลหะกรรม สนับสนุนให้มีการทำเหมืองทองในเขตจังหวัดพิจิตร

นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางไปต้อนรับการเปิดเหมืองการผลิตทองคำ เพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศ และผู้ลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นบริษัทเดิมอยู่

จนกระทั่งปี 2554 รัฐบาลต่อมา ได้มีการระงับการต่อใบอนุญาตประทานบัตร จำนวน 1 แปลง ยาวนานมาถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุที่ไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง ซึ่งมีปัญหาฟ้องร้องเกี่ยวกับขั้นตอนของการออกใบอนุญาต และเรื่องยังฟ้องร้องกันอยู่ในขั้นของศาลปกครองถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น ยังมีปัญหาของผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ ที่เกิดจากสารพิษตกค้างจากการทำเหมือง ทั้งนี้ ในช่วงของรัฐบาล คสช. เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงว่าปัญหาดังกล่าวได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว โดยเป็นช่วงที่ประเทศอยู่ในสภาวะไม่ปกติ

รัฐบาลก็ได้พิจารณาการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างเหมาะสมเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนั้นมีข้อโต้แย้งมากทั้งเรื่องขั้นตอนการอนุญาต ขาดความรัดกุม และเพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน

นายก 1
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ชี้แจงต่ออายุเหมืองทองอัครา

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและต้องใช้เวลาในการทบทวนข้อกฎหมาย พ.ร.บ. การประกอบกิจการเหมืองแร่ และกรอบนโยบายเกี่ยวกับการทำเหมือง เพื่อลดปัญหาที่หมักหมมมายาวนาน

ภายหลังการปรับปรุง พ.ร.บ. การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ. 2560 และมีการออกนโยบายการทำเหมืองแร่ใหม่ในปีเดียวกัน มีบริษัทเอกชนที่สนใจเข้ามาขอใบอนุญาตใหม่ และขอต่อใบอนุญาตเดิมแล้วกว่า 100 ราย

สำหรับบริษัท อัครา เป็นบริษัทหนึ่ง ที่แม้จะมีผู้ถือหุ้นของบริษัทมีคดีความฟ้องร้องต่อรัฐบาลไทย แต่ก็มิได้เป็นข้อจำกัดสิทธิบริษัท ที่จะดำเนินการเรื่องขอต่อใบอนุญาต ตามที่ประทานบัตร 1 แปลง ของบริษัทอัครา หมดอายุในปี 2555 ซึ่งขอต่อใบอนุญาตไว้ในปี 2554 แต่ยังถูกระงับการต่ออายุอยู่

ต่อมาปี 2563 มีอีก 3 แปลงที่ใบอนุญาตจะหมดอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งจะหมดอายุภายหลังที่บริษัทอัคราหยุดกิจการปลายปี  2559 แต่ได้มีการขอต่ออายุไว้ก่อนแล้ว

หลังจากที่มี พ.ร.บ. การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ. 2560 ใหม่ขึ้นมา บริษัทอัคราได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อขอต่ออายุทั้ง 4 แปลง ที่ค้างไว้อยู่ในคราวเดียวกันตามกรอบเวลาสัมปทานที่ยังเหลืออยู่ โดยทำตามขั้นตอนเดียวกับบริษัทเอกชนรายอื่น ๆ จึงเป็นที่มาในการได้รับการต่อใบอนุญาตประทานบัตร จำนวน 4 แปลง ในปลายปี 2564 และไม่ได้เป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนอะไรกับรัฐบาลทั้งสิ้น

ถ้าจะถูกตีความว่า การต่ออายุใบอนุญาต เป็นการยกทรัพยากรธรรมชาติ หรือสมบัติของชาติให้กับเอกชน ตามอำเภอใจ ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นการกล่าวหาตั้งแต่รัฐบาลในยุคนั้น หรือเป็นข้อกล่าวหาที่ขัดต่อนโยบายการทำเหมืองตั้งแต่ในอดีต และผูกพันมาจนถึงปัจจุบัน ยืนยันรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้

เหมือง

ประการต่อมา เรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาต การอนุญาตการสำรวจ เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมตามปกติที่ขอหลักการกับคณะรัฐมนตรีไว้แล้ว ซึ่งในการปฏิบัติไม่ได้มีขั้นตอนมาเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี เพียงแต่รับทราบการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

ดังนั้น ตามที่ผู้อภิปรายอ้างถึงการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ การสำรวจจำนวน 44 แปลง ขอทำความเข้าใจด้วยว่า ผู้ขออนุญาตการสำรวจนี้ จะต้องรับเงื่อนไขการได้รับการอนุญาต ว่ามีขีดความสามารถในการสำรวจ

ทั้งนี้เพราะหากได้รับอนุญาตแล้วไม่สามารถสำรวจได้ ก็จะต้องจ่ายเงินตามที่ร้องขอทำแผนไว้ที่กระทรวงอุตสาหกรรม และค่าธรรมเนียมในการได้รับอนุญาตสำหรับแปลงสำรวจจะเพิ่มขึ้นทุกปี ถ้าไม่ส่งคืนพื้นที่ รวมทั้งเมื่อสำรวจเจอแล้ว ก็จะต้องรายงานให้กระทรวงทราบ เพื่อพิจารณาผลประโยชน์เข้ารัฐ

นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันว่า การดำเนินการของรัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ ประชาชนเป็นหลัก และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รัฐบาลไม่ได้ต้องการทำเหมืองหรือยึดเอาเหมืองมาเป็นของรัฐ

รัฐบาลยินดีต้อนรับนักธุรกิจ และนักลงทุนที่สามารถปฏิบัติตามกฎหมาย สร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่กับประชาชน และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ หรือให้มั่นใจว่าไม่ก่อความเสียหายให้กับสภาพแวดล้อม รวมทั้งการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์อย่างสมดุล

ซัดฝ่ายค้าน อย่าอนุมานไปเอง

คำถามหลายข้อเกิดจากการอนุมานของผู้อภิปรายเอง ที่พยายามจะบิดเบือนให้พี่น้องประชาชนเห็นว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง

ส่วนการเจรจาเกิดขึ้นโดยคำแนะนำของคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นทางออกที่ดีสำหรับกรณีพิพาทนี้ เนื่องจากมีความไม่เข้าใจกันอยู่หลายประการ ดังนั้น การเจรจากันต้องใช้เวลา ขณะเดียวกันก็อยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คู่เจรจาอยู่คนละประเทศ จึงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ

ขณะที่การฟ้องร้องของคิงส์เกต เป็นเพราะความไม่เข้าใจ และคิดว่าบริษัทลูกในประเทศไทยไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติ เพราะมีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทต่างชาติ ข้อฟ้องร้องจึงระบุว่า รัฐบาลมีเจตนายึดเหมืองอย่างคืบคลานโดยไม่ต่อใบอนุญาตตั้งแต่ปี 2554 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น จึงเป็นความเข้าใจผิดว่าประเทศไทยจะเข้าไปทำเหมืองเสียงเอง ต้องการจะยึดกิจการและสิ่งของในกระบวนการประกอบธุรกิจให้ตกเป็นของรัฐ ทำให้แสดงออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ที่คิงส์เกตคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น การไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตช่วงหลายปีที่ผ่านมา

หลักการคัญของรัฐบาล คือมุ่งหวังประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ การปฏิบัติต่าง ๆ ของหน่วยงานต้องเป็นไปตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล ซึ่งหน่วยงาน กระทรวง ก็มีรายงานสิ่งที่ปฏิบัติในแหล่งข้อมูลข่าวสารของกระทรวงอยู่แล้ว

ข้อสรุปคือไปสู่การเจรจา การเลื่อนการอ่านคำพิพากษา กระบวนการปฏิบัติของฝ่ายไทยเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งสิ้น

กรณีการใช้มาตรา 44 นั้น ผู้อภิปรายพยายามอภิปราย จะทำให้เกิดความเข้าใจผิด โดยไม่คำนึงถึงประชาชนที่ต้องเสียประโยชน์ เพราะการเจรจานั้น เพื่อทำความเข้าใจให้เกิดผลดีและส่งผลดีที่สุด แต่ข้อเสนอของผู้อภิปรายเหมือนต้องการให้ประเทศ และนายกรัฐมนตรีเสียหายและมีความผิดจากการใช้มาตรา 44 หรือกฎหมายปกติ

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า สิ่งที่รัฐบาลทำคือการแก้ปัญหา และมาตรา 44 ที่ออกไป ขอให้ไปดูว่ามีการเขียนในรายละเอียด เป็นเรื่องของการต้องไปตรวจสอบ ต้องไปดำเนินการให้ทุกเหมือง ทุกประเภท ให้ไปทำให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย

นายกรัฐมนตรีไม่สามารถจะพูดได้ว่า ใครผิดหรือถูกในขณะนี้ เพราะยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นการพูดจาอะไรต่าง ๆ ก็ขอให้ระมัดระวังด้วย เพราะหากปัญหาขึ้นในอนาคต คงไม่ใช่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แต่ต้องย้อนกลับไปถึงรัฐบาลต่าง ๆ ที่ผ่านมาด้วย

ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวขอให้สภาเป็นที่ที่รับฟังข้อเสนอแนะ นายกรัฐมนตรีพร้อมรับฟังทุกฝ่าย แต่ถ้าเพียงมุ่งจะตีรัฐบาล และให้นายกรัฐมนตรีลาออก มองว่าไม่ถูก และยืนยันไม่ลาออก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo