Economics

‘สมชัย’ ชวนจับตาตัดสิน ‘คดีเหมืองทองอัครา’ 31 ม.ค. หวั่นแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ชาติ เลี่ยงโดนปรับ 3 หมื่นล้านบาท

“สมชัย” ชวนจับตา ดูคำชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการ “คดีเหมืองทองอัครา” ที่คณะอนุญาโตตุลาการ ในสิงคโปร์ จะมีคำตัดสินชี้ขาด วันที่ 31 มกราคมนี้ หลัง “คิงส์เกต” เพิ่งประกาศได้รับอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 ฉบับ หวั่นเป็นการรแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของชาติอย่างมหาศาล เพื่อเลี่ยงไม่ถูกปรับ 30,000 ล้านบาท

จากคดีพิพาทระหว่างบริษัท “คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด” ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ “อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)” กับราชอาณาจักรไทย ที่ล่าสุด คิงส์เกต แจ้งว่า รัฐบาลไทยอนุมัติสัญญาเช่าพื้นที่  4 แปลงให้กับบริษัท และเปิดทางให้กลับมาทำเหมืองแร่ชาตรีได้อีกครั้ง หลังจากที่ต้องหยุดดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 นั้น

เหมืองทองอัครา

ล่าสุด วันนี้ (26 ม.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีต กกต. โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว สมชัย ศรีสุทธิยากร ถึงเรื่องคดีเมืองทองอัครา ที่ยืดเยื้อกันมานาน โดยระบุว่า

ประเด็น เหมืองทองอัครา

1. วันที่ 31 มกราคม 2565 จะมีคำขี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในประเด็นที่ บริษัทคิงส์เกต ฟ้องรัฐบาลไทย เรียกค่าเสียหายจาก กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะที่เป็นหัวหน้าคสช. มีคำสั่ง ม.44 สั่งปิดเหมืองทอง เมื่อปี 2559 โดยบริษัทได้เรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท

2. รัฐบาลไทยได้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ โดยมีตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วม และมีการตั้งงบประมาณแผ่นดิน เพื่อใช้จ่ายในการจัดการคดีเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาทต่อปี รวมเป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท

3. การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคสช. เป็นประเด็นที่ต้องชมเชยว่า ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่มีผลกระทบต่อประชาชน แต่มีข้อตำหนิว่าการใช้อำนาจดังกล่าว มีความไม่รอบคอบทางข้อกฎหมาย จนนำไปสู่การฟ้องร้อง

4. การไต่สวนของคณะอนุญาโตตุลาการได้สิ้นสุดลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่มีการขอเลื่อนการตัดสินชี้ขาดมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก เลื่อนเป็นวันที่ 31 ตุลาคม 2564 และครั้งที่สองเลื่อนเป็นวันที่ 31 มกราคม 2565 โดยให้เหตุผลว่า อยู่ระหว่างการเจรจาคู่ขนาน ที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนคำตัดสินชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการ

โดยมีผู้ให้ข้อสังเกตว่า รัฐบาลไทยอาจใช้วิธีการเสนอผลประโยชน์แลกเปลี่ยนเพิ่มเติม เพื่อยุติกรณีค่าปรับ 30,000 ล้านบาท

5. วันที่ 19 ธันวาคม 2564 บริษัทคิงส์เกต ออสเตรเลีย ออกแถลงการณ์ขอบคุณรัฐบาลไทย ที่ให้สัมปทานการทำแร่เพิ่มอีก 4 รายการ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 400,000 ไร่โดยมีอายุสัมปทาน 10 ปี ได้กล่าวว่าเป็นสัญญาณในทางบวกระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท

6. วันที่ 31 มกราคม 2565 ที่จะถึงนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูคำชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการ ที่จะมีขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ว่า จะมีคำตัดสินเป็นอย่างไร และจะเป็นเรื่องการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของชาติอย่างมหาศาล จากการหลีกเลี่ยงไม่ถูกปรับ 30,000 ล้านบาท ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะหัวหน้าคสช. ต้องร่วมรับผิดชอบหรือไม่

เหมืองทองอัครา

ทั้งนี้  เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 คิงส์เกตได้ออกประกาศผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท ระบุว่า ขณะนี้บริษัทได้รับอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่แล้วจำนวน 4 ฉบับ ที่จำเป็นในการเปิดดำเนินการเหมืองแร่ทองคำชาตรีอีกครั้ง จากรัฐบาลไทย

ประทานบัตรทั้ง 4 ฉบับประกอบด้วย ประทานบัตรเหมืองชาตรีใต้ 3 ฉบับ และประทานบัตรเหมืองแร่ควอตซ์ ที่อยู่ระหว่างรออนุมัติมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งประทานบัตรแต่ละฉบับ มีผลเป็นระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2564

บริษัท คิงส์เกต ระบุด้วยว่า สำหรับขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับการขอต่อใบอนุญาตแปรรูปโลหกรรม ได้เสร็จสมบูรณ์ และได้รับอนุมัติแล้วเช่นกัน ซึ่งทางบริษัทจะได้รับใบรับรองจากทางรัฐบาลไทยในอีกไม่ช้า

การอนุมัติเหล่านี้ จะทำให้เหมืองทองคำชาตรีกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง ขณะนี้ทางบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการในสิ่งที่จำเป็น เพื่อเริ่มเปิดเหมืองใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับปรุงโรงงาน 1 และ 2 ที่จะมีกำลังผลิตรวมกันกว่า 5 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสำนักงานจัดหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อสรรหาเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคที่จำเป็นเพื่อการปฏิบัติการด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo