Politics

โควิดระบาดรอบ 2 แพทย์เตือนคนไทยต้องเตรียมรับมือ เพื่อลดความรุนแรง!

โควิดระบาดรอบ 2 แพทย์เตือนคนไทยต้องเตรียมรับมือเพื่อลดความรุนแรงในการแพร่ระบาด ย้ำ! “หน้ากากอนามัย” ป้องกันได้ ถึงรับเชื้อก็จะป่วยไม่รุนแรง

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC กรณี โควิดระบาดรอบ 2 โดยระบุว่า มีรายงานการสวม “หน้ากากอนามัย” ลดจำนวนคนเสียชีวิตจากโรคไวรัสโควิด-19 ก่อนหน้านี้ มีการศึกษาชี้ว่า หากทุกคนสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากจะป้องกัน การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และถึงรับเชื้อ ก็จะป่วยไม่รุนแรง

โควิดระบาดรอบ 2

ล่าสุด มีรายงานจากมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology และ University of British Columbia ศึกษาย้อนหลัง ในช่วงต้น เดือนเมษายน ถึงต้น เดือนมิถุนายน

ถ้าคนอเมริกัน มีวินัยใส่หน้ากากอนามัยทุกคน ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แทนที่จะมีคนเสียชีวิตต้นเดือนมิถุนายน 99,446 คน ตัวเลขคนเสียชีวิตจะลดลงเฉลี่ย 39,779 คน (17,000-55,000 คน)

เป็นที่น่าเสียดายช่วง 2 เดือนนี้ คนอเมริกันไม่สามัคคี มีความเห็นขัดแย้งกัน ประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่สนับสนุนการสวมหน้ากาก องค์การอนามัยโลก ก็ไม่แนะนำให้ทุกคนใส่หน้ากาก ถ้าคนอเมริกันทุกคน สวมหน้ากาก ตัวเลขของการเสียชีวิต จะลดลง ไม่สูงขนาดนี้

คนไทยสามัคคี ไม่ขัดแย้งกัน ร่วมมือร่วมใจใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้ามากกว่า 90% ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ยอดการเสียชีวิตของประเทศไทยคงที่ 58 ศพ ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม 70 วันแล้ว

ขอให้คนไทยทุกคน ใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เวลาออกนอกบ้าน เวลาอยู่รวมกลุ่มกัน ในสถานที่แออัด เว้นระยะห่างไม่ได้ สถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่ดี ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ รถส่วนตัว รถแท็กซี่ รถสองแถว รถตู้ รถโดยสาร รถไฟฟ้า รถไฟ เครื่องบิน เรือโดยสาร

โรงเรียน มหาวิทยาลัย คลีนิค ร้านยา โรงพยาบาล โรงแรม โรงหนัง โรงละคร ชมคอนเสิร์ต ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ โรงงาน ศาลาวัด สถานที่ทางศาสนา ในอาคาร สถานที่ทำงาน สถานที่ราชการ ห้องประชุม สถานบันเทิง

ร้องเพลง คาราโอเกะ ผับ บาร์ สนามกีฬาฟุตบอล สนามมวย สถานที่เล่นการพนันชนโค ชนไก่ กัดปลา เล่นไพ่ งานปาร์ตี้ และอื่นๆ เราต้องเตรียมรับมือ ลดความรุนแรงของโรคไวรัสโควิด-19 ที่จะระบาดระลอกที่ 2

ด้าน รศ.นพ. ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เตือนหาก โควิดระบาดรอบ 2 โดยระบุว่า ณ วันนี้ ทั่วโลกมีรายงานการติดเชื้อใหม่ทุกวัน รวมถึงประเทศต่างๆ ที่ไทยกำลังจะเปิดรับ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ

หลัง 1 กรกฎาคม เราแต่ละคนควรระมัดระวังในการใช้ชีวิต

ครั้งนี้มีทั้งศึกในศึกนอก ไม่เหมือนการปลดล็อคทุกระยะที่ผ่านมา

เมื่อวานคุยกันที่บ้านว่าแต้มต่อของการรอดของประเทศเราเป็นอย่างไร?

ผมคิดอยู่นาน และตัดสินใจตอบดังนี้…

“หากดูตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีมาทั่วโลก คิดว่าน้อยมาก”

แต่…หากมองว่าไทยเรามีอัตลักษณ์ต่างจากที่อื่น รายละเอียดกำกับการปลดล็อคของเรานั้นมากกว่าที่อื่นหลายต่อหลายประการ และประชาชนเราส่วนใหญ่ยังระแวดระวังอยู่…ทำให้พอเห็นโอกาสมากขึ้นบ้าง

เดิมพันจึงอยู่ที่ระบบการคัดกรอง กักตัว และติดตาม ว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงพอไหม

และปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ระดับการ์ดของเราหลัง 1 กรกฎาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สถานศึกษาระดับต่างๆ, หอพัก, โรงแรม, สถานบันเทิง, และแหล่งท่องเที่ยว

ยุทธศาสตร์ที่ต้องทำเพิ่มเติมตอนนี้คือ เตรียมระบบดูแลรักษาให้พร้อมที่จะดำเนินการ เน้นการทำ early detection and early treatment…ภาษานักระบาดคือ secondary prevention

เพราะการระบาดที่เราจะเห็นต่อจากนี้ หากเกิดขึ้น จะไม่ย้อนกลับไปแบบมกราคม แต่จะออกมาในแบบฉับพลันและรุนแรงแบบมีนาคม

การจะป้องกันได้ ต้องอาศัยทั้งกลไกรัฐที่เข้มแข็ง ตรวจสอบใกล้ชิด และอาศัยการช่วยกันเป็นหูเป็นตาของประชาชนทุกคน

นอกจากนี้ รศ.นพ.ธีระ ยังโพสต์ข้อความอีกว่า “เลขคู่อ่อนๆ” ชายล้วน…ทั้งหมดเดินทางกลับจากตะวันออกกลาง

หลังกักตัว 5 วัน ตรวจครั้งแรกไม่พบเชื้อ มาตรวจเจอครั้งที่สอง หลังกักตัวไป 11 วัน ทั้งหมดไม่มีอาการ ขอให้ปลอดภัย หายไวไวนะครับ

ย้ำว่าการกักตัวเฝ้าสังเกตอาการและตรวจเป็นระยะในช่วง 14 วันนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ระวังให้ดี กรณีให้ต่างชาติเข้ามาระยะสั้นแล้วไม่กักตัวนั้น แม้ตรวจต้นทางปลายทาง ก็อาจหลุดได้ครับ

โควิด15963

กระทรวงสาธารณสุขยืนยันความพร้อม!

กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโควิด 19 สถานการณ์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 โดยตั้งคณะทำงานด้านการกระจายทรัพยากรและอุปกรณ์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งช่วงแรกอาจยังไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เนื่องจาก กำลังการผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในประเทศยังไม่เพียงพอ

ปัจจุบันมีการบริหารจัดการ และมีโรงงานที่ผลิต 45 โรงงานและมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มีอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ต่างๆ เพียงพอรับมือกับโรคโควิด 19 และสำรองไว้ใช้ได้นานถึง 3 เดือน โดยหน้ากาก N95 มีสำรอง 2,430,189 ชิ้น อยู่ที่ส่วนกลาง 1,916,050 ชิ้น ชุด PPE สำรองไว้ 1,471,131 ชิ้น อยู่ที่ส่วนกลาง 607,494 ชิ้น หน้ากากอนามัยสำรองไว้ 43,414,478 ชิ้น อยู่ที่ส่วนกลาง 300,000 ชิ้น กำลังการผลิต 3,418,400 ชิ้นต่อวัน ซึ่งถือว่าเพียงพอ เนื่องจากประชาชนสามารถใช้หน้ากากผ้าควบคู่ไปด้วยได้

ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ มีสำรอง 590,680 เม็ด และยาเรมเดซิเวียร์ ขนาด 50 มิลลิกรัมจำนวน 65 ขวด และขนาด 100 มิลลิกรัม จำนวน 330 ขวด รองรับผู้ป่วยได้ 33 ราย

สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดนประเทศเมียนมา จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง มีการสำรองเวชภัณฑ์เพื่อรับมือกับโรคโควิด 19 ดังนี้ หน้ากาก N95 จำนวน 29,872 ชิ้น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 3,831,938 ชิ้น ชุด PPE จำนวน 28,704 ชุด และชุด Surgical Gown จำนวน 15,645 ชุด

ด้านนพ. วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีระบบติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยโรคโควิด 19 แบบเรียลไทม์ ซึ่งนำข้อมูลดังกล่าวมาบริหารจัดการทรัพยากร อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ได้ทันที ทำให้สามารถรับมือกับโรคโควิด 19 ได้

นอกจากนี้ ในภาพรวมของประเทศมีศักยภาพรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 1 – 2 หมื่นคน บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนมีความพร้อม และยังคงความเข้มข้นของสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ในหลายรูปแบบ เพื่อไม่ให้คนไทยติดเชื้อจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

ส่วนนพ.ธเนศ ดุสิตสุนทรกุล รักษาการผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 กระทรวงสาธารณสุขได้รับพระมากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานรถเก็บตัวอย่างตรวจเชื้อชีวนิรภัยพระราชทานในการลงพื้นที่ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก

นอกจากนี้ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับทุกภาคส่วนในสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ให้มีผู้ติดเชื้อน้อยลงตามลำดับ ขณะนี้ได้จัดสรรทรัพยากรให้ลงถึงพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นจังหวัดตะเข็บชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่มีการระบาดของโรค ทั้งเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อ รวมทั้งเร่งรัดเบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัยเป็นขวัญกำลังใจบุคลากร และงบประมาณที่จำเป็นสำหรับใช้ในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK