Politics

เตือน! ทุกภาคฝนตกหนัก เตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน-ดินถล่ม

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่าได้ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่าช่วงที่ผ่านมาทุกภาคของประเทศไทยมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายพื้นที่เกิดอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม

นายชยพล ธิติศักดิ์
นายชยพล ธิติศักดิ์

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศแจ้งเตือน พายุโซนร้อน “เบบินคา” บริเวณประเทศเวียดนามตอนบนเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศลาว และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น โดยอยู่ห่างจากจังหวัดน่าน ประมาณ 250 กิโลเมตร ส่งผลให้ช่วงวันที่ 17 – 20 สิงหาคม 2561 ทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย จะมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 – 4 เมตร

อีกทั้งกรมทรัพยากรธรณีได้ออกประกาศให้เฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย แยกเป็น

พื้นที่เฝ้าระวังดินถล่มเป็นพิเศษ ได้แก่ น่าน (อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอบ่อเกลือ อำเภอแม่จริม อำเภอเวียงสา) แพร่ (อำเภอสอง อำเภอวังชิ้น อำเภอร้องกวาง) อุตรดิตถ์ (อำเภอลับแล อำเภอน้ำปาด อำเภอท่าปลา) พิษณุโลก (อำเภอนครไทย อำเภอ ชาติตระการ) ลำปาง (อำเภอแจ้ห่ม อำเภอเมืองปาน อำเภองาว) เชียงใหม่ (อำเภอเชียงดาว อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย) แม่ฮ่องสอน (อำเภอแม่สะเรียง

อำเภอสบเมย อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย) ตาก (อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด) เลย (อำเภอด่านซ้าย)

พื้นที่เฝ้าระวังอุทกภัยและดินถล่ม แยกเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง 11 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง 13 จังหวัด แยกเป็น ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ps1

ดังนั้น กอปภ.ก. จึงได้ประสานจังหวัด รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และคลื่นลมแรง โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดมิสเตอร์เตือนภัยเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย

อีกทั้งตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง อีกทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดเรือทุกประเภท ทั้งเรือเล็ก เรือประมง เรือท่องเที่ยว เรือข้ามฟาก และเรือเฟอร์รี่ ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง พร้อมตรวจสอบสภาพเรือให้มีความปลอดภัย และอุปกรณ์ชูชีพให้เพียงพอ

สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัย พร้อมปฏิบัติตามคำเตือน เตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากระดับน้ำท่วมถึง

ps2

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight