General

ประเมิน ‘ฝีดาษลิง’ เลวร้ายสุด จะเป็นเสมือน ‘ซิฟิลิส’ ดีสุด จะสงบในไม่กี่เดือน

ศูนย์จีโนมฯ เผยผู้เชี่ยาชาญทั่วโลก คาด 2 สถานการณ์ ฝีดาษลิง กรณีเลวร้ายที่สุด จะเป็น “ซิฟิลิส” ตัวต่อไป หากดีที่สุด จะสงบลงได้เองในเร็ววัน

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics คาดการณ์สถานการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก กรณีฝีดาษลิงที่เลวร้ายที่สุด และสถานการณ์ที่ดีที่สุด โดยระบุว่า

ฝีดาษลิง

การคาดการณ์สถานการณ์ที่ดีที่สุดและที่เลวร้ายที่สุดของการระบาดของ “ไวรัสฝีดาษลิงในปี 2022” (The best-case and the worst-case scenario for monkeypox outbreak in 2022)

ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก ได้คาดการณ์สถานการณ์ที่ดีที่สุด และที่เลวร้ายที่สุด สำหรับการระบาดของไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งอาจเสมือน ซิฟิลิส ในโลกปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจ

ทั้งนี้ เห็นตรงกันว่า การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ PCR และ การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม จะเป็นเครื่องมืออันสำคัญ ที่สามารถช่วยป้องกันมิให้สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นได้

การคาดการณ์สถานการณ์ที่ดีที่สุด: โรคสงบลงได้เองในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ไวรัสฝีดาษลิงที่ระบาดอยู่ในทวีปยุโรป อเมริกา และ ออสเตรเลีย ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมามีการกลายพันธุ์ไปอย่างมากถึง 47 ตำแหน่งภายในเวลาในเวลาเพียง 5 ปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากสำหรับ ดีเอ็นเอไวรัส 

โดย 42 จาก 47 ตำแหน่ง มีการกลายพันธุ์ในรูปแบบจำเพาะ คือมีองค์ประกอบของดีเอ็นเอ TT เปลี่ยนเป็น TA หรือ GA เปลี่ยนเป็น AA อันบ่งชี้ว่า เกิดจากเอนไซม์มนุษย์ที่สร้างจากยีน APOBEC3 (ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันไวรัสเข้ามารุกรานเซลล์) ได้เข้ากระตุ้นให้จีโนมไวรัสมีกลายพันธุ์ในลักษณะจำเพาะ (TT เปลี่ยนเป็น TA หรือ GA เปลี่ยนเป็น AA) จนเสียหายไม่อาจเพิ่มจำนวนต่อไปได้

ไวรัสฝีดาษลิง ที่พยายามจะติดต่อข้ามจากสัตว์มาสู่คน ส่วนใหญ่จะถูกทำลายด้วยเอนไซม์ชนิดนี้ จำนวนน้อยที่เหลือรอดมา จะมีจีโนมกลายพันธุ์ผิดรูปแบบไปอย่างมากเสมือน แผลเป็น บนจีโนม จนอาจส่งผลให้การแพร่ติดต่อระบาดระหว่างคนสู่คนไม่ดีนัก

ท้ายที่สุด การระบาดและโรคฝีดาษลิง จะค่อย ๆ สงบลงในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

1 6

การคาดการณ์สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด: เป็นเสมือนซิฟิลิสตัวต่อไป

เรากำลังจะเผอิญกับไวรัสฝีดาษลิงกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ที่มีความสามารถในการติดต่อ และมีอาการทางคลินิกที่แตกต่างไปจากไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์เดิมอย่างสิ้นเชิง หากเราไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ลงได้

การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการด้วย PCR เพื่อตรวจกรองผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงอย่างรวดเร็ว ภายใน 24-48 ชั่วโมง ตามด้วย การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม เพื่อบ่งชี้สายพันธุ์ และตำแหน่งที่กลายพันธุ์ เพื่อเปรียบเทียบกับไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ดั้งเดิมให้ได้ทันท่วงที มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการระบาดของไวรัสฝีดาษลิงในปัจจุบัน มีรูปแบบการระบาดที่แตกต่างจากไปจากไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ดั้งเดิมมาก

ในอดีต รอยโรคฝีดาษลิง จะเกิดขึ้นที่ลิ้นและปากก่อน ตามด้วยผื่นที่ใบหน้า แขน และขา จากนั้นจะพัฒนาเป็นตุ่มน้ำและตุ่มหนองต่อไป อาการเหล่านั้นมองเห็นได้ง่าย ช่วยในการคัดกรองและกักตัวได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม การระบาดครั้งล่าสุด ผู้ป่วยจำนวนมากมีรอยโรคเพียงเล็กน้อย และกระจุกตัวอยู่บริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก ซึ่งอยู่ในร่มผ้าสังเกตไม่เห็น

ในอดีตผู้ติดเชื้อมักมีอาการเกิดขึ้น ระหว่างการเดินทางไปแอฟริกา ผู้ป่วยจะเข้าพบแพทย์ตามคลินิกเปิดรับนักท่องเที่ยว หรือเมื่อเดินทางกลับมาสู่ภูมิลำเนาจะเข้าพบแพทย์ผู้ดูแล โดยแจ้งว่าเขาน่าจะได้รับเชื้อไวรัสบางอย่างระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ

แต่ล่าสุด ผู้ติดเชื้อส่วนมากจะมาที่คลินิกกามโรค เพื่อตรวจสอบตุ่มแผลบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ หรือทวารหนัก หากเป็นเช่นนี้ โรคฝีดาษลิงจะเป็นเสมือน ซิฟิลิส ในโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชายที่มีเพศสัมพันธ์ระหว่างกัน

หากให้คาดการณ์สถานการณ์ที่เลวร้ายสุด ไวรัสฝีดาษลิงได้กลายเป็นโรคประจำถิ่น (ซึ่งไม่น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นเนื่องจากเรามีทั้งวัคซีน ยาต้านไวรัสฝีดาษลิง และการตรวจวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว PCR และการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม) จนเกิดการแพร่กระจายไปในชุมชนทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะกลุ่มชายรักชาย หรือในกลุ่ม LGBTQ+ (เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานเจนเดอร์ เควียร์ ที่ไม่ใช่กลุ่มเพศตามเพศสภาพ (Cisgender)

ฝีดาษลิง 1

แต่จะแพร่ไปยังกลุ่มรักต่างเพศ (heterosexual) รวมถึงเด็กและสตรีมีครรภ์ โดยจะมีการระบาดเหมือนโรคซิฟิลิส หรือโรคเริม บริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งขณะนี้มีชาวอเมริกันติดเชื้อเริมใต้ร่มผ้ามากกว่า 12%

ดังนั้นศูนย์จีโนมทางการแพทย์ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ในสองรูปแบบคือ

1. พัฒนาการตรวจ Massarray genotyping อันเป็นการตรวจกรองเบื้องต้น หลังจากการตรวจ PCR ให้ผลบวก ที่สามารถตรวจกรองและคัดแยกบรรดาไวรัส ที่ก่อให้เกิดตุ่มน้ำบริเวณผิวหนัง ที่แยกได้ยากจากตุ่มน้ำจากการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงในระยะแรก โดยสามารถทดสอบพร้อมกันในครั้งเดียว (single tube reaction)

  • Herpes Simplex virus type 1 หรือ เชื้อ HSV-1 ที่มักพบการติดเชื้อเป็นตุ่มน้ำ บริเวณปากหรือรอบ ๆ ปาก
  • Herpes Simplex virus type 2 หรือ เชื้อ HSV-2 เป็นการติดเชื้อในลักษณะตุ่มน้ำ บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ หรือ อวัยวะเพศ ช่องคลอด ปากมดลูก ทหารหนัก อวัยวะเพศชาย ถุงอัณฑะ ฯลฯ
  • Herpes Simplex virus type 3 หรือ HSV-3 ก่อให้เกิดสุกใส chickenpox (varicella) และงูสวัด shingles (herpes zoster) เกิดตุ่มน้ำขึ้นเช่นเดียวกัน
  • ไวรัสฝีดาษลิงที่กำลังระบาดในทวีป ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย อยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสฝีดาษลิงดั้งเดิม >40 ตำแหน่ง
  • ไวรัสฝีดาษลิงที่ระบาดในปี 2560 จากประเทศไนจีเรีย ทวีปแอฟริกา ซึ่งยังไม่มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ดั้งเดิม
  • ไวรัสฝีดาษคน (smallpox) ที่ผู้ติดเชื้อผู้ใหญ่มีอัตราการเสียชีวิต 30% และในเด็กสูงถึง 80% ปัจจุบันคาดว่าได้ถูกขจัดสูญพันธุ์ไปแล้ว

22 2

2. การถอดรหัสพันธุ์อย่างรวดเร็วในลักษณะของ Metagenomic ซึ่งสามารถบ่งชี้จุลชีพ และไวรัสอาร์เอ็นเอหรือดีเอ็นเอ ทุกประเภท และทุกสายพันธุ์ จากสิ่งส่งตรวจ เพื่อให้ทราบว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับจุลชีพหรือไวรัสประเภทใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มีข้อมูลมากพอเพียง ที่จะระบุได้ว่าจะเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์ไหน และมีการกลายพันธุ์ไปอย่างไร เพื่อการดูแล ป้องกันและรักษา ได้ทันท่วงที

รวมถึงการเร่งแชร์ข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิง ที่ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมได้ หากมีการระบาดเกิด

ในประเทศไทย ขึ้นบนฐานข้อมูลโลก GISAID และ Nextstrain เช่นเดียวกับข้อมูลของไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์จากทุกประเทศ ได้นำไปใช้ประโยชน์ เพื่อร่วมด้วยช่วยกันยุติการแพร่ระบาดของไวรัสฝีดาษลิงลงโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน อันอาจส่งผลให้เกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายอย่างคาดไม่ถึง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo