General

เร่งตรวจสอบ 6 หาดสำคัญ ผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่ว

เร่งตรวจสอบ 6 หาดสำคัญ ผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่ว ที่มีต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขุดทรายหาดแม่รำพึงเพื่อแผ่นดูดซับน้ำมันออก ก่อนจะกลบให้แน่นตามเดิม

วันนี้ ( 2 ก.พ.) นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า น้ำทะเลระยองเริ่มคืนสภาพสวยใส โดยศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยฝั่งตะวันออก ตรวจสอบการปนเปื้อนของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ในสิ่งแวดล้อมทางทะเล และชายหาดระยอง 6 หาดสำคัญได้แก่ หาดสุชาดา หาดแสงจันทร์ หาดแม่รำพึง (คลองหัวรถ) หาดแม่รำพึง (ก้นอ่าว) หาดบ้านเพ และหาดสวนสน ผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่า สภาพน้ำทะเลเป็นปกติ ไม่พบคราบน้ำมัน ไม่พบสัตว์น้ำตาย

น้ำมันรั่ว

แม้ไม่พบคราบน้ำมันในทะเลและชายฝั่งแล้ว แต่ทช. ยังต้องสำรวจผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ มีแผนปฏิบัติการได้แก่

– กลุ่มสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อมทางทะเลติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเล ตลอดจนสำรวจการปนเปื้อนของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในสิ่งแวดล้อมทางทะเลตั้งแต่หาดสุชาดา-บ้านเพ

– ทีมสัตวแพทย์สำรวจผลกระทบของน้ำมันรั่วไหลต่อสัตว์ทะเลชายหาด

– เดินสำรวจคราบน้ำมันบริเวณชายหาดที่ได้รับผลกระทบระยะทาง 2.3 ก.ม. ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ

– ส่งเรือตรวจการณ์ออกสำรวจบริเวณอ่าวพร้าว-อ่าวปะการัง เกาะเสม็ด บริเวณเขาแหลมหญ้า-หน้าสถานีรายงานอากาศ และหาดแม่รำพึง

– ส่งทีมชุดทางบกสำรวจบริเวณหาดแหลมเจริญ

753408

สำหรับการประชุมการของศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการฯ วานนี้ ได้ระบุถึงการตรวจพบเมือกหรือน้ำที่เป็นฟองบริเวณหน้าธงชัยรีสอร์ทระยะทาง 1 กม. ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า อาจเป็นคราบน้ำมันผสมกับสารขจัด โดยกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบ ซึ่งจะเร่งติดตามผลวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ แต่บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC แจ้งว่า ได้ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว

ส่วนที่ได้รับแจ้งจากประชาชนว่า สังเกตพบสารเรืองแสง-จุดวาวบนหอยและตะกอนทราย นายโสภณ กล่าวว่า การเรืองแสงในน้ำอาจเกิดจากสารฟอสฟอรัสหรือแพลงก์ตอนเรืองแสง แต่ศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยฝั่งตะวันออกจะเก็บตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ รวมทั้งให้ทางบริษัท SPRC ดำน้ำสำรวจด้วย

S 107585603 1536x1027 1

นอกจากนี้ทางทีมทำความสะอาดชายฝั่ง (Shoreline clean up) ของบริษัท SPRC ขออนุญาตศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการฯ เพื่อนำรถขุดมายังหาดแม่รำพึงเพื่อขุดหา “แผ่นดูดซับน้ำมัน” (Absorbent Sheet) ขึ้นมากำจัดให้หมด และจะขุดเพื่อพลิกทรายที่ปนเปื้อนขึ้นมาบำบัด โดยทรายที่ขุดไว้วางแผ่นดูดซับน้ำมันมีความลึกไม่ถึง 50 เมตร ซึ่งทางศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการฯ เห็นชอบว่า ควรนำแผ่นดูดซับน้ำมันออกให้หมด แล้วกลบอัดทรายให้แน่นเหมือนเดิม

ล่าสุด ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการฯ เตรียมยุติภารกิจ หากขจัดคราบน้ำมันเสร็จสิ้นและตรวจสอบไม่พบแล้ว จากนั้นจะถ่ายโอนภารกิจไปยังศูนย์ประสานงานฯ แล้วให้แต่ละหน่วยงานส่งข้อมูลการติดตามตรวจสอบทั้งหมดไปยังศูนย์ประสานงานฯ ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมเจ้าท่าตามระเบียบต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo