General

‘ไข้หวัด’ ระบาดหนักร้อยเอ็ด เด็กป่วยพุ่ง 20 เท่าจากต้นปี พ่วงระวัง ‘ไวรัส RSV’ ซ้ำ

ไข้หวัด ระบาดหนักร้อยเอ็ด เด็กป่วยล้นเตียง พุ่งสูงสุดในรอบ 2 เดือน หมอเตือน การ์ดอย่าตก แนะ ‘ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด’ พร้อมเฝ้าระวัง ไวรัส RSV อันตรายถึงชีวิต

นายแพทย์ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ไข้หวัด ระบาดหนักร้อยเอ็ด โดยในช่วงเดือนตุลาคม ถึง พฤศจิกายน 2563 โรงพยาบาลร้อยเอ็ด พบเด็กป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจสูงเกือบ 20 เท่าจากต้นปี ส่งผลให้ หอผู้ป่วยเด็ก มีผู้ป่วยนอนรักษาตัว เป็นจำนวนมาก จนผู้ป่วยล้นเตียง

ไข้หวัด ระบาดหนักร้อยเอ็ด

ปัจจุบัน มีผู้ปกครอง พาเด็กเข้ารับการรักษา ด้วยปัญหา โรคระบบทางเดินหายใจ ในช่วงเวลา 2 เดือน ดังนี้ เดือนตุลาคม 2563 จำนวน 127 ราย และเดือนพฤศจิกายน 2563 จำนวน 78 ราย ซึ่งสูงกว่าเดือนมีนาคม 2563 ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพียง 7 ราย/เดือน

สำหรับโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นการติดเชื้อตั้งแต่ จมูก คอ หลอดลม ไปจนถึงปอด เชื้อที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ คือ เชื้อไวรัส อาการของ โรคไข้หวัดใหญ่จะคล้าย ๆ กับโรคไข้ชนิดอื่น ๆ คือ มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ระคายคอ แต่ถ้ามีไข้มาก หรือปวดเมื่อยตามตัวมาก ต้องระวังว่า อาจเป็นไข้หวัดใหญ่ได้

สำหรับการรักษา โดยทั่วไปจะหายเองภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือ ให้การรักษาตามอาการ คือ ช่วงที่มีไข้ ก็รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล เช็ดตัวบ่อย ๆ ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ พักผ่อนมาก ๆ งดการทำงานหนัก ถ้าสูบบุหรี่หรือดื่มสุราอยู่ต้องงด ถ้ามีหายใจหอบต้องรีบพบแพทย์

นอกจากนี้ ไข้หวัด ยังสามารถแพร่เชื้อและติดต่อได้ง่าย เช่น การไอหรือจามรดกัน หรือหายใจเอาฝอยละอองเข้าไป รวมไปถึงการใช้สิ่งของร่วมกัน หรือการได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น

นายแพทย์ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล1
นายแพทย์ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล

ดังนั้น ควรดูแลตนเอง เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ทุกสายพันธุ์ โดยการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ดังนี้

  • ปิด : ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม
  • ล้าง : ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
  • เลี่ยง : หลีกเลี่ยงคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  • หยุด : หยุดเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด รวมถึงการสวมหน้ากากผ้า และการใช้ช้อนกลางส่วนตัว งดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่นเดียวกับการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด-19

นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ ผู้ปกครองเฝ้าระวัง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดอาการอักเสบ ที่เยื่อบุส่วนล่างของทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดภาวะปอดอักเสบ และระบบทางเดินหายใจล้มเหลว

ไวรัส RSV จะมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกาย ได้หลายชั่วโมง โดยอาศัยอยู่ตามวัตถุต่าง ๆ ติดต่อได้ง่าย จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง ของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำมูก น้ำลาย เข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา หู จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ

ทั้งนี้ เด็กเล็ก สามารถรับเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่แรกเกิด อาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ หลังรับเชื้อ 2-6 วัน หากติดเชื้อในระบบหายใจส่วนล่าง จะทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบ จากนั้นจะมีอาการไอหอบรุนแรง ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว อาการรุนแรงอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการไวรัส RSV คล้ายไข้หวัด แต่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ ที่ต้องรีบพบแพทย์โดยเร็ว คือ เกิดภาวะขาดน้ำ โดยสังเกตจากเวลาลูกร้องไห้ แต่ไม่มีน้ำตาไหลออกมา อาการไข้สูงขึ้น ๆ ลง ๆ และมีน้ำมูกใสๆ ไหลตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน ยังมีอาการเบื่ออาหาร งอแง ซึม ไอมากจนเหนื่อย ไอคล้ายเสียงหมาเห่า จามบ่อย มีเสมหะสีคล้ำเขียว หรือสีเหลือง หายใจเป็นเสียงหวีด หายใจตื้นเร็ว สั้น ดูเหนื่อย หายใจลำบาก ปีกจมูกบานเวลาหายใจ ปลายนิ้ว เล็บ เริ่มเปลี่ยนสีเป็นเขียวคล้ำ ตัวลายเขียวจากการขาดออกซิเจน

การป้องกัน ทำได้ด้วยล้างมือด้วยน้ำสบู่ทุกครั้ง ก่อนสัมผัส และก่อนอุ้มเด็ก หากลูกติดเชื้อ RSV รักษาให้หายดีก่อนไปโรงเรียนป้องกันการแพร่เชื้อ หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่น แยกแก้วน้ำส่วนตัว หลีกเลี่ยงการจูบและหอมเด็ก เพราะอาจเป็นการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว หลีกเลี่ยงสัมผัสเด็ก ที่สงสัยว่าเป็นหวัด ใส่หน้ากากอนามัย ไม่นำบุตรหลานไปโรงพยาบาลและสถานที่ชุมชนแออัด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo