กองทุนบัตรทอง ปี 64 ได้งบเกือบ 2 หมื่นล้านบาท “อนุทิน” แย้มข่าวดี สปสช. จับมือ กทม. วางโครงสร้างระบบบริการรูปแบบใหม่ พร้อมยกระดับบริการ 4 รายการใหม่
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สำหรับปี 2564 กองทุนบัตรทอง ยังคงเดินหน้าให้การดูแลประชาชน โดยรัฐบาลจัดสรรงบกองทุนบัตรทอง 194,508.78 ล้านบาท เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 177,198.99 ล้านบาท หลังหักเงินเดือนภาครัฐ 52,143.97 ล้านบาท เป็นงบเหมาจ่ายที่ส่งให้ สปสช.บริหาร 125,055.01 ล้านบาท และงบนอกเหมาจ่ายรายหัวอีก 17,309.79 ล้านบาท
“การบริหารงบบัตรทองในแต่ละปี เน้นที่ความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ มุ่งดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง”
สำหรับปีงบประมาณ 2564 นี้ จากการประชุมบอร์ด สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ล่าสุด ได้เห็นชอบการยกระดับบริการบัตรทอง 4 รายการ คือ
1. นำร่องเข้ารับบริการปฐมภูมิบัตรทองที่หน่วยบริการทุกแห่งในเครือข่ายบริการใน กทม. จะเริ่มในวันที่ 1 พ.ย. นี้
2. ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว นำร่องที่เขต 9 นครราชสีมาในวันที่ 1 พ.ย. นี้ และใน กทม.และปริมณฑลจะเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 64
3. โรคมะเร็งไปรับบริการที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ที่พร้อมและร่วมให้บริการ โดยจะมีการจัดสรรทรัพยากรแต่ละหน่วยบริการเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องรอคิวนาน
4. ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน จะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค. 64 สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนบัตรทองที่ไม่หยุดนิ่ง ตอบสนองความต้องการผู้มีสิทธิ เพื่อให้เป็นหลักประกันด้านสุขภาพแท้จริงของประชาชน” นายอนุทิน กล่าว
ทั้งนี้ กองทุนบัตรทอง ในปีงบประมาณ 2564 นับเป็นก้าวเข้าสู่ปีที่ 19 ตลอดระยะเวลา ได้มีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานกองทุนอย่างต่อเนื่อง ตามสถานการณ์ต่างๆ ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม
โดยเฉพาะช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มีสถานการณ์ที่ทำให้กองทุนฯ ต้องมีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการในบางส่วนเพื่อให้เกิดความเหมาะสม สถานการณ์แรกคือการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เริ่มพบผู้ที่ติดเชื้อในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นปี
กองทุนบัตรทอง เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนค่าใช้จ่าย เพื่อป้องกันและควบคุมโควิด-19 ทั้งการคัดกรอง การรักษา ค่ายา อุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข เพื่อดูแลประชาชนทันที เมื่อมีแนวโน้มการแพร่ระบาด
นอกจากนี้ ที่ผานมา ยังได้ปรับการดำเนินงาน ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนเพิ่มเติม อาทิ โครงการผู้ป่วยรับยาร้านยาใกล้บ้าน โครงการส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ การสนับสนุนหน่วยบริการจัดระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth/Telemedicine) การปรับหลักเกณฑ์กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) เพื่อให้ท้องถิ่นนำงบมาใช้ในการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่
ส่วนกรณีคลินิกบัตรทองในเขต กทม. เบิกจ่ายค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งพบความผิดปกติของข้อมูลเบิกจ่ายที่ตรวจพบโดยระบบตรวจสอบของ สปสช. เป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะกระทบต่อผู้มีสิทธิจากความจำเป็นในการยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทอง
แต่ที่ผ่านมา สปสช. ได้เร่งแก้ไข จับมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีสถานพยาบาลในสังกัด เพื่อรองรับดูแลผู้ป่วยเร่งด่วนและดูแลต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง ระหว่างนี้ได้เร่งจัดหาหน่วยบริการปฐมภูมิทดแทนเพื่อให้บริการ
“กรณีนี้แม้เป็นภาวะวิกฤติ แต่ก็เป็นโอกาสในการปฏิรูปบริการปฐมภูมิในพื้นที่ กทม.ขณะนี้ สปสช.ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดวางโครงสร้างระบบบริการรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2564 นี้ เรียกได้ว่าพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสสำหรับคน กทม.”นายอนุทิน กล่าว
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นโยบายในปี 2564 ยังคงให้ความสำคัญกับผู้ให้บริการควบคู่ สนับสนุนการให้บริการของหน่วยบริการ ลดขั้นตอนต่าง ๆ และแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรค เพื่อให้หน่วยบริการสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พร้อมกันนี้ ได้นำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ ในระบบบริการเพิ่มขึ้น อาทิ บริการจองสิทธิฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่, การยืนยันตัวตนผู้รับบริการด้วยสมาร์ทการ์ด, การเพิ่มการเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคผ่าน “เป๋าตังสุขภาพ” บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่ร่วมกับธนาคารกรุงไทย และการให้บริการระบบการแพทย์ทางไกล เป็นต้น
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- หมอเหรียญทอง ชงตั้ง ‘ศูนย์สำรองเตียงผู้ป่วยใน’ แก้ปัญหาเตียงผู้ป่วยบัตรทอง
- ‘หมอเหรียญทอง’ โชว์! ต้นแบบ คลินิกชุมชนอบอุ่น รพ.มงกุฎวัฒนะ
- เคลียร์ชัด! บัตรทอง ‘ห้ามเก็บค่าใช้จ่าย’ ผู้ป่วยขอประวัติรักษา ‘ย้ายสิทธิ’