“ดร.อนันต์” เปิดที่มา “โรคแอนแทรกซ์” โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน การติดเชื้อจาก 3 ช่องทาง อาการและวิธีการรักษา
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า
โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อว่า Bacillus anthracis สามารถติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรงทั้งคนและสัตว์ ซึ่งไม่มีสัตว์พาหะเหมือนกับเชื้อที่ติดจากไวรัสที่สัตว์ตัวกลางมักไม่แสดงอาการ ดังนั้น สัตว์ป่วยในพื้นที่ใกล้เคียงการระบาด จึงต้องเฝ้าระวัง
การติดเชื้อไม่ได้เกิดจากการกินเนื้อสัตว์ดิบเท่านั้น สามารถเกิดได้ 3 ช่องทางใหญ่ ๆ คือ
1. จากการสัมผัสเชื้อโดยเฉพาะสปอร์ของเชื้อผ่านบาดแผล หรือ รอยขีดข่วนบนผิวหนัง ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด
2. จากการสูดสปอร์ของเชื้อเข้าทางระบบทางเดินหายใจ ถ้าลงไปในปอดจะเกิดอาการที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งเป็นช่องทางการติดเชื้อที่อันตรายที่สุด
3. จากการกินเนื้อสัตว์ปนเปื้อนเชื้อที่ไม่ผ่านการทำลายสปอร์จนสมบูรณ์
อาการของคนติดเชื้อ
อาการจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับช่องทางการได้รับเชื้อ เช่น ถ้ารับเชื้อผ่านทางเดินหายใจ จะไม่พบอาการทางผิวหนัง แต่จะมีอาการเหมือนปอดอักเสบรุนแรง ถ้ารับผ่านทางการกินก็จะอาเจียน ไข้สูง ท้องเสีย ปวดท้อง เป็นต้น
ทั้งนี้ เนื่องจากเชื้อก่อโรคเป็นแบคทีเรีย ผู้ติดเชื้อจะสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาหลังได้รับเชื้อทันที หรือ ทันทีที่มีอาการ การรักษาหลังเชื้อลุกลามจะไม่ได้ผล
เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะอยู่บนพื้นดิน และ ใบหญ้าแบบไม่มีพิษภัยอะไร จนกว่าจะเข้าไปในร่างกายของสัตว์ ดังนั้นสัตว์ที่มักติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะเป็นกลุ่มที่กินหญ้าเป็นอาหาร เช่น วัว ควาย แพะ แกะ ส่วนสัตว์เลี้ยงอื่นๆที่อยู่ในฟาร์ม เช่น สุกร จะมีโอกาสสัมผัสเชื้อน้อยกว่าและมักไม่พบเคสติดเชื้อ
สปอร์ของแอนแทรกซ์มีความคงทนสูงมาก เชื้อทนความร้อนได้ดีมาก จำเป็นต้องต้มในน้ำเดือดนานกว่า 30 นาที กว่าเชื้อจะหมดสภาพ และ อยู่ในสภาวะ pH สูง (>11.4) และต่ำ (< 3) ได้นานกว่า 24 ชั่วโมง
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ดร.อนันต์’ ห่วงคนมีอาการลองโควิด ติดเชื้อซ้ำ เสี่ยงอาการหนักขึ้น แนะให้ยาต้านไวรัส
- ดร.อนันต์ เปิดสาเหตุ-อาการ ‘ลองโควิด’ แนวโน้มปัญหาระยะยาว
- ‘ดร.อนันต์’ เผยองค์ความรู้ใหม่ ติดโควิดแบบไม่มีอาการ อาจช่วยออกแบบวัคซีนใหม่ได้
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg