“ดร.อนันต์” เผยผลวิจัยการติดโควิดแบบไม่มีอาการ องค์ความรู้ใหม่ ที่อาจช่วยออกแบบวัคซีนใหม่ได้ ด้วยการเลียบแบบกลไกจากธรรมชาติ
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana โดยระบุว่า
เราได้ยินเรื่องติดโควิดแบบไม่แสดงอาการ (Asymtomatic) มาตั้งแต่เริ่มการระบาดใหม่ๆ แต่องค์ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยไม่มีอาการยังมีอยู่จำกัดมาก
สาเหตุหนึ่งคือตัวอย่างในการศึกษาหายากเพราะ เมื่อไม่มีอาการ ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อ การเก็บข้อมูลต่าง ๆ ให้มีจำนวนมากพอได้ผลน่าเชื่อถือจึงทำได้ยาก
วันนี้มีบทความ reveiew article ตีพิมพ์ออกมาสรุปประเด็นเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ
การติดโควิดแบบไม่มีอาการ พบบ่อยที่สุดในประชากรเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 17 ปี ซึ่งกลุ่มนี้จะแตกต่างจากกลุ่มผู้สูงอายุชัดเจน ซึ่งยิ่งอายุสูงกว่า 80 ปี โอกาสติดโควิดแบบไม่มีอาการแทบจะเป็นศูนย์เลย แต่โอกาสมีอาการรุนแรงสูงได้ถึง 50% โอกาสการติดเชื้อแบบไม่มีอาการพบได้บ้างในวัยผู้ใหญ่ แต่แนวโน้มน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบระบบภูมิคุ้มกันของกลุ่มที่ไม่มีอาการ กับ กลุ่มที่มีอาการ สิ่งแรกที่เห็นคือปริมาณไวรัสในร่างกาย (Viral load) ที่ขึ้นและตกลงเร็วในกลุ่มที่ไม่มีอาการ
ขณะที่กลุ่มมีอาการจะขึ้นสูงและอยู่นานกว่า สาเหตุเป็นเพราะในกลุ่มที่ไม่มีอาการ ร่างกายสร้างสารอินเตอเฟียรอน (IFN) ซึ่งเป็นสารยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้ไวมาก แทบจะทันทีที่ร่างกายจับได้ว่ามีการติดเชื้อ IFN ถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้ไวรัสอยู่ในร่างกายได้ในระยะเวลาสั้น ๆ
แตกต่างจากกลุ่มที่มีอาการ IFN ขึ้นอย่างช้า ๆ แถมมีการชะลอในช่วงไวรัสอยู่ในระดับสูง อาจเป็นเพราะไวรัสในปริมาณมาก สามารถมีกลไกในการยับยั้งการสร้าง IFN ของร่างกายได้
อีกปัจจัยที่น่าสนใจคือ T cell ในกลุ่มไม่มีอาการ ถูกกระตุ้นได้ไวมาก ขึ้นได้ก่อนการพบแอนติบอดีด้วยซ้ำ ซึ่งเชื่อว่าเป็น T cell ที่ข้ามมาจากการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเด็กมีการติดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์หวัดธรรมดาอยู่ ทำให้ T cell จากการติดเชื้อเหล่านั้นถูกกระตุ้นข้ามมายับยั้งไวรัสก่อโรคโควิดได้ไว ส่งผลให้อาการของโรคไม่เกิดขึ้น
ตรงข้ามกับกลุ่มที่มีอาการที่ T cell มาช้ากว่ามาก ซึ่งจะสูงขึ้นหลังมีอาการป่วยไปสักพักแล้ว
เนื่องจากไวรัสในกลุ่มไม่มีอาการอยู่ในร่างกายได้ในระยะเวลาสั้นกว่าปกติ โอกาสที่ร่างกายจะเห็นโปรตีนของไวรัสจะน้อยกว่า ทำให้แอนติบอดีในกลุ่มไม่มีอาการแทบที่จะตรวจไม่พบเลยในระยะที่มีการติดเชื้อ แต่จะเริ่มขึ้นอย่างช้า ๆ หลังจากนั้น และ ขึ้นมาในระดับที่ไม่สูงเท่าการติดเชื้อแบบปกติ ทำให้เชื่อว่าแอนติบอดีมีบทบาทน้อยต่อกลไกการป้องกันไม่ให้มีอาการของโรคในผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้
องค์ความรู้นี้ อาจสามารถนำมาช่วยออกแบบวัคซีนใหม่ได้ โดยเลียนแบบกลไกจากธรรมชาติที่ช่วยทำให้เคลียร์ไวรัสได้ไว ติดได้แบบไม่มีอาการ โดยการทำ T cell กับ IFN ให้ขึ้นได้ในเวลาที่สำคัญที่สุดที่ร่างกายต้องการ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘หมอธีระ’ เตือน! โควิดยังติดกันเยอะ ตรวจวันแรกได้ผลเป็นลบ อย่าชะล่าใจ!
- โควิดขาขึ้น! ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 625 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 7 ราย
- ‘ดร.อนันต์’ รวมเรื่องต้องรู้ โควิดสายพันธุ์ JN.1 ที่กำลังเป็นสายพันธุ์หลักของโลก รวมถึงไทย
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg