General

สปสช. จ่อชงปรับค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ เพิ่มรายได้ ‘คลินิกชุมชนอบอุ่น’ ในกรุงเทพฯ

สปสช. เตรียมแผนเสนอ อปสข. เขต 13 กทม. ปรับงบประมาณหมวดบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ทางออกช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคลินิกชุมชนอบอุ่น พร้อมพบปัญหาการเบิกจ่ายผิดหมวดหมู่ ทำให้เบิกจ่ายไม่ได้ 

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร, นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมทีมผู้บริหาร ลงพื้นที่รับฟังปัญหาการดำเนินการ ชุมชนอบอุ่นสหคลินิก (เวชกรรมและการแพทย์แผนไทย) ซอยประชาสงเคราะห์ 26 เขตดินแดง กทม. โดยเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ที่ประสบปัญหาจากการจ่ายเงิน Model 5

คลินิกชุมชนอบอุ่น

นพ.จเด็จ กล่าวว่า เท่าที่รับฟังข้อมูลพบว่า ตามกติกาการให้บริการของ สปสช. อาจทำให้คลินิกในระบบฯ ไปเน้นที่การส่งต่อผู้ป่วย และทำให้เกิดตัวเลขของการตามจ่ายผู้ป่วยที่ส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลสูงมาก อย่างเช่นที่ชุมชนอบอุ่นสหคลินิกนี้ มีสัดส่วนของการตามจ่ายผู้ป่วยส่งต่อสูงถึง 70% ของรายได้ ขณะที่สัดส่วนรายได้จากบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมีเพียง 30% เท่านั้น ทั้งที่ควรมีสัดส่วนที่ 50-60%

ดังนั้น นอกจากการแก้ปัญหาโดยปรับวิธีการจ่ายบริการผู้ป่วยนอกเป็นแบบเหมาจ่ายรายหัว ตามข้อเสนอที่ได้เริ่มไปแล้วนั้น สปสช.จะทำการปรับอัตราการจ่ายค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วย ซึ่งขณะนี้ยังมีเงินเหลืออยู่จำนวนมาก ในการช่วยเพิ่มเติมให้กับคลินิกชุมชนอบอุ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยจะเสนอต่อ อปสข. เขต 13 กทม. พิจารณาก่อน และจะประกาศหลักเกณฑ์ฯ ฉบับใหม่ โดยจะให้ใมีผลจ่ายย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567

จเด็จ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปัญหาการเบิกจ่ายค่าบริการผู้ป่วยนอก ในวันนี้ยังพบว่ามีบางรายการที่มีการคีย์ข้อมูลเรียกเก็บค่าบริการผิดหมวดหมู่ ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ในจุดนี้ สปสช. จะมีคณะทำงานเข้ามาช่วยตรวจสอบรายละเอียดรายการเบิกจ่ายต่าง ๆ ของคลินิกอย่างละเอียด เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปอย่างถูกต้อง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักระยะ แต่เบื้องต้นยืนยันว่า สปสช. จะยังไม่มีการเรียกเก็บเงินคืนในช่วงนี้ จนกว่าจะพิสูจน์จำนวนการเบิกจ่ายที่ถูกต้องก่อน

นางอนงค์ โรจน์กูลชัย ผู้บริหารชุมชนอบอุ่นสหคลินิก กล่าวว่า ชุมชนอบอุ่นสหคลินิกให้บริการมาประมาณ 3 ปี ดูแลประชากรประมาณ 1.2 หมื่นคนโดยรอบ โดยให้บริการทั้งการรักษาพยาบาลและส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ทั้งนี้ ในแต่ละเดือนมีต้นทุนบริการอยู่ที่ 7 แสนบาท ไม่รวมค่า OT ของบุคลากร ค่าอุปกรณ์และเวชภัณฑ์สิ้นเปลือง และค่าทำการตลาด ซึ่งโดยเฉลี่ยมีรายได้เดือนละ 8-9 แสนบาท นับว่าพออยู่ได้ ที่ผ่านมาได้รับแจ้งจาก สปสช. ว่าจะเรียกเก็บเงินคืนจำนวน 1.9 ล้านบาท หากเป็นเช่นนั้นจริง อาจขายกิจการหรือยุติการให้บริการไป

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่า ค่าใช้จ่ายกรณีตามจ่ายผู้ป่วยส่งต่อเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก ประกอบกับรูปแบบการบริหารจัดการที่ไม่สอดคล้อง อาทิ การให้งบเหมาจ่ายคลินิกเป็นแบบปลายปิด ส่วนการจ่ายค่าบริการในการส่งต่อผู้ป่วยเป็นแบบปลายเปิด

คลินิกชุมชนอบอุ่น

ขณะที่ในส่วนการสร้างรายได้เพิ่มจาก บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ทุกคลินิกเช่นกัน เพราะอย่างที่ชุมชนอบอุ่นสหคลินิกเวชกรรมฯ มีชุมชนที่อยู่ใกล้คลินิกและเป็นชุมชนที่อยู่ติด ๆ กัน ทำให้สามารถทำงานส่งเสริมสุขภาพได้ดี

แต่ในกรณีของคลินิกที่ต้องดูแลพื้นที่ที่มีหมู่บ้านจัดสรรจะทำอย่างไร เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เข้าถึงง่ายหรือยาก แต่ละคลินิกก็มีต้นทุนบุคลากรเท่า ๆ กัน

ดังนั้น จึงอยากให้ สปสช. มองใน 2 มุม อันดับแรกจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับต้นทุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรก่อน หลังจากนั้นจึงเป็นค่าตอบแทนในการจัดรายบริการหรือเหมาจ่ายก็ได้

ส่วนการปรับรูปแบบการจ่ายจาก Model 5 มาเป็นแบบเหมาจ่ายคงต้องรอดูกันต่อไป แต่คิดว่าสาเหตุที่แท้จริงคือ สปสช.จัดสรรงบประมาณมาไม่เพียงพอ ดังนั้นแม้จะเปลี่ยนมาเป็นแบบเหมาจ่ายก็ไม่ได้แตกต่างกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo