General

สปสช. ขอความร่วมมือ รพ.รับส่งต่อผู้ป่วยบัตรทอง 30 บาทใน กทม. ดูแลผู้ป่วยช่วงเปลี่ยนผ่านใช้เหมาจ่ายรายหัว

สปสช. ขอความร่วมมือ รพ.รับส่งต่อใน กทม. ดูแลผู้ป่วยบัตรทอง 30 บาท ช่วงเปลี่ยนผ่านโมเดล 5 ไปใช้เหมาจ่ายรายหัว พร้อมช่วยแจ้งผู้ป่วยให้ติดต่อหน่วยบริการปฐมภูมิต้นสังกัดตามสิทธิ

เริ่มแล้วตั้งแต่ 1 มีนาคม 2567 นี้ สำหรับการบริหารจัดการช่วงเปลี่ยนผ่าน ดูแลผู้ป่วยบัตรทองในพื้นที่ กทม. จากโมเดล 5 ที่จ่ายตามรายการ (Fee Schedule) ไปใช้การจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัว (Capitation)

บัตรทอง 30 บาท

ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดประชุมชี้แจง การดำเนินการบริหารกองทุนผู้ป่วยนอกกรณีเปลี่ยนผ่านโมเดล 5 กลับไปใช้การจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัว ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ตามข้อเสนอของสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย ประธานคณะทำงานวิเคราะห์ข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการกรณีผู้ป่วยนอก การส่งต่อและการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขอย้ำว่ากรณีการปรับการบริหารกองทุนผู้ป่วยนอก โมเดล 5 ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ไม่รวมถึงพื้นที่จังหวัดอื่น ด้วยผลกระทบที่เกิดกับหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยเฉพาะคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่ กทม.

เบื้องต้น สปสช. จึงได้ทำการปรับการจ่ายเงินตามข้อเสนอฯ ที่เป็นรูปแบบเหมาจ่ายรายหัว (Capitation) ส่งผลให้หน่วยบริการรับส่งต่อ (รพ.รับส่งต่อ) จะต้องทำการเรียกเก็บค่าบริการจากหน่วยบริการปฐมภูมิที่ทำการส่งต่อผู้ป่วยแทน

สำหรับรูปแบบใหม่นี้ ในการเรียกเก็บค่าบริการของโรงพยาบาลรับส่งต่อจากหน่วยบริการปฐมภูมินั้น จะต้องมีหลักฐานสำคัญที่เป็นใบส่งตัวผู้ป่วยจากหน่วยบริการปฐมภูมิจึงจะสามารถเรียกเก็บค่ารักษาได้

อย่างไรก็ดี ด้วยเป็นการปรับการบริหารจัดการอย่างกะทันหัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วย สปสช. จึงขอความร่วมมือโรงพยาบาลรับส่งต่อในการดูแลผู้ป่วยส่งต่อที่มีนัดหมายรับบริการก่อน

บัตรทอง 30 บาท

พร้อมกันนี้ ขอแจ้งผู้ป่วยให้ติดต่อหน่วยบริการปฐมภูมิที่ได้ขึ้นทะเบียนใช้สิทธิบัตรทอง เพื่อประเมินอาการในการรับบริการครั้งต่อไป โดยในรายที่หน่วยบริการปฐมภูมิประเมินแล้วว่า มีศักยภาพที่จะให้การรักษาได้ก็จะได้ก็จะได้รับการดูแลต่อเนื่องที่หน่วยบริการปฐมภูมินั้น แต่ในรายที่เกินศักยภาพการบริการก็มีการออกใบส่งตัวผู้ป่วย เพื่อเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรับส่งต่อเนื่องต่อไป

ส่วนกรณีการให้บริการผู้ป่วยนอกที่ไม่มีใบส่งตัวนั้น นพ.สนั่น กล่าวว่า จากแนวทางการเบิกจ่ายของ สปสช. นั้น โรงพยาบาลที่ให้บริการจะเบิกจ่ายจาก สปสช. ได้ใน 2 กรณี คือ กรณีอุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน และผู้ป่วยนอกข้ามจังหวัด (OP AE) และบริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ (OP Anywhere) เท่านั้น

ด้าน ทพญ. น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ประธานการชี้แจงฯ กล่าวว่า ขณะนี้ทาง สปสช. ได้เร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลการปรับระบบโมเดล 5 ไปใช้การจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัว ให้ประชาชนในพื้นที่ กทม. รับทราบ

ขอย้ำเพิ่มเติมว่า หน่วยบริการที่ออกใบส่งตัวผู้ป่วยนอกได้นั้น ต้องเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่ผู้ป่วยขึ้นทะเบียนสิทธิไว้เท่านั้น เนื่องจากจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลที่รับส่งต่อผู้ป่วย

ขณะที่โรงพยาบาลก็ต้องเรียกเก็บค่ารักษากับหน่วยบริการปฐมภูมิเท่านั้น เนื่องจากเป็นหน่วยบริการที่รับงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนสิทธิกับหน่วยบริการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo