General

‘หมอทวีศิลป์’ แจงยิบ ปมหมอลาออก เร่งผลิตแพทย์เพิ่ม ขยายกรอบอัตรากำลัง

สธ. ยัน หมอลาออก ไม่ถึง 900 คน เฉลี่ยลาออกปีละ 455 คน ไม่รวมเกษียณ เร่งขยายกรอบอัตรากำลังเพิ่มเป็น 3.5 หมื่นคนจากปัจจุบัน 2.4 หมื่นคน 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่แค่แพทย์ แต่ยังมีวิชาชีพอื่น ๆ ด้วย ทั้งพยาบาล ทันตแพทย์ นักรังสีการแพทย์ และวิชาชีพอื่น ๆ

หมอลาออก

สำหรับสถานการณ์แพทย์ในปัจจุบัน มีแพทย์ทั้งหมดประมาณ 5-6 หมื่นคน เป็นแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข 24,649 คน หรือคิดเป็น 48% แต่ภาระงานที่ดูแลคนในระบบหลักประกันสุขภาพฯประมาณ 45 ล้านคน

ดังนั้น จะเห็นว่า 75-80% ของประชากร แต่มีแพทย์ในระบบแค่ 48% ตัวเลขนี้จึงเห็นภาระงานชัดเจน เฉลี่ยต่อประชากรจะอยู่ที่ 1 ต่อ 2,000 คน ซึ่งมาตรฐานโลกกำหนดให้ 3 ต่อ 1,000 คน ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่ายังขาดแคลนอีกมาก

ทั้งนี้ เมื่อกระจายแพทย์แยกรายเขตสุขภาพทั้ง 12 เขตสุขภาพ พบว่า เขตสุขภาพที่ 13 ในกทม. มากที่สุด ขณะที่เขตอื่น ๆ จะมีสัดส่วนประชากรประมาณ 3-5 ล้านคน

กระจายแพทย์รายเขต

นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับการผลิตแพทย์นั้น โดยข้อมูลตั้งแต่ปี 2561-2570 กระทรวงอุดมศึกษาฯ ได้มีแผนผลิตแพทย์เพิ่มประมาณ 3,000 กว่าคน ซึ่งหากผลิตได้เท่านี้ จนถึงปี 2570 จะมีแพทย์ทั้งหมด 33,780 คน

จากนั้น เมื่อผลิตแพทย์แล้ว จะมีการจัดสรร โดยคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ ที่เรียกว่า CONSORTIUM ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้เป็นปลายทางที่เดียว โดยจะมีคณะแพทย์ประมาณ 20 กว่าแห่งเป็นกรรมการร่วมกัน

ส่วนการจัดสรรก็จะกระจายให้แต่ละกระทรวง แต่ละหน่วยงาน ทั้งกระทรวงกลาโหม กทม. กระทรวงอุดมศึกษาฯ เป็นต้น

นพ.ทวีศิลป์

นพ.ทวีศิลป์ ยกตัวอย่างในปีงบประมาณ 2566 สำเร็จการศึกษา 2,759 คน ไม่รวมเอกชนกับจบต่างประเทศ โดยตัวเลขนี้ต้องแบ่งแต่ละกระทรวงฯ ทั้งอาจารย์แพทย์ในสาขาปรีคลินิก อาจารย์แพทย์ที่เป็นโรงเรียนแพทย์ที่เปิดใหม่ และหน่วยงานคณะแพทยศาสตร์อื่น ๆ อีก

สรุปโควต้าคงเหลือมาที่ สธ. อยู่ที่ 1,960 คน แต่เราต้องแบ่งกระทรวงกลาโหมด้วย ซึ่งเราเคยทำการวิจัยว่า สธ.จริงๆควรได้ประมาณ 2,055 คน

หากพิจารณาการจัดสรรนักศึกษาแพทย์ที่เราได้มาย้อนหลัง 5 ปี จะพบว่า อย่างปี 2561 เราได้จัดสรร 1,994 อัตรา ปี 2562 จัดสรรให้ 2,054 อัตรา ปี 2563 จัดสรรให้ 2,031 อัตรา ปี 2564 จัดสรรให้ 2,023 อัตรา และปี 2565 จัดสรรให้ 1,849 อัตรา

แพทย์ใช้ทุน

อย่างไรก็ตาม เมื่อแพทย์จบ 6 ปี ตามกฎเกณฑ์แพทยสภา ระบุให้ต้องไปทำงานเพิ่มพูนทักษะ ที่เรียกว่า อินเทิร์นเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี เรียกว่า ปีที่ 7 ต้องไปเพิ่มพูนทักษะในรพ. 117 แห่ง ข้อมูล ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566

สำหรับการเพิ่มพูนทักษะ เพื่อให้ได้เจอเคส มีประสบการณ์ต่างๆ ทั้งนี้ ศักยภาพรวมในการรับแพทย์เพิ่มพูนทักษะอยู่ที่ 3,128 คนใน 117 รพ. แต่จำนวนจัดสรรอยู่ที่ 2,150 คน หรือคิดเป็น 68.7%

ดังนั้น การจัดสรรจึงไม่เพียงพอ ทำให้มีการฝึกอบรมเพิ่มเติม ทั้งโครงการ CPIRD ทั้งโอดอท ทั้งนอกสังกัด ทั้งที่เรียนเอกชน แต่จำนวนก็ยังไม่เพียงพอ

เมื่อจำนวนจัดสรรมาไม่เพียงพอ ทำให้มีภาระงานเพิ่ม เห็นได้จากผลสำรวจระหว่างวันที่ 15-30 พฤศจิกายน 2565  พบชั่วโมงการทำงานนอกเวลา แบ่งออกเป็น

1. ทำงานมากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มี 9 แห่ง แผนดำเนินงานแก้ไข 3 เดือน

2. ทำงานมากกว่า 59-63 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มี 4 แห่ง แผนดำเนินงานแก้ไข 6 เดือน

3. ทำงานมากกว่า 52-58 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 11 แห่ง แผนดำเนินงานแก้ไข 9 เดือน

4. ทำงานมากกว่า 46-52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 18 แห่ง และทำงานมากกว่า 40-46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 23 แห่ง โดยแผนดำเนินการแก้ไข 1 ปีขึ้นไป

แพทย์ทำงานนแกเวลา

ส่วนกรณีมาตรฐานโลกบอกว่า ต้องทำงานต่ำกว่า 40 ชั่วโมง เป็นข้อมูลจากประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีแพทย์เป็นแสนคน ซึ่งไทยก็พยายามทำอยู่ อย่างทำงานมากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เดิม 9 แห่ง เราลดลงมาเหลือ 4 แห่ง

นอกจากนี้ เมื่อแพทย์อินเทิร์นทำงานครบ 1 ปี ก็จะได้ใบเพิ่มพูนทักษะ และสามารถไปลาเรียนต่อเฉพาะทางได้ ทำให้ออกจากระบบบริการประชาชนของกระทรวงสาธารณสุข ตกปีละประมาณ 4 พันคน อย่าง 2.4 หมื่นคน ก็จะเหลือประมาณ 20,228 คนในปี 2565 ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นในการศึกษาต่อ

สำหรับข้อมูลหมอลาออก 10 ปีย้อนหลัง ระหว่างปี 2556-2565 พบว่า มีแพทย์บรรจุรวม 19,355 คน โดยแพทย์ใช้ทุนปีแรก ลาออก 226 คน คิดเป็น 1.2% เฉลี่ยปีละ 23 คน ซึ่งถือว่าน้อย เพราะต้องอยู่ให้ครบตามแพทยสภากำหนด จึงจะไปสอบเชี่ยวชาญได้

ขณะที่ แพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 ลาออกมากกว่า เพราะครบคุณสมบัติไปเป็นแพทย์เฉพาะทางได้ ตัวเลขอยู่ที่ 1,875 คน คิดเป็น 9.69% เฉลี่ยปีละ 188 คน ส่วนแพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 ลาออก 858 คน คิดเป็น 4.4% เฉลี่ยปีละ 86 คน

ในส่วนของหมอลาออกหลังพ้นภาระชดใช้ทุน 1,578 คน คิดเป็น 8.1% เฉลี่ยปีละ 158 คน โดยสรุปภาพรวมเฉลี่ยลาออกปีละ 455 คน นอกจากนี้ยังมีเกษียณปีละ 150-200 คน รวมประมาณปีละ 655 คน

ตัวเลขที่ออกไปยังสื่อมวลชนว่า ลาออกไป 900 กว่าคนจึงเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยเฉลี่ยในส่วน สธ. ลาออกอยู่ที่ปีละ 655 คน

สธ.1

ที่ผ่านมา สธ. ได้ดูแลบุคลากรทั้งระบบของกระทรวงฯ เช่น ค่าตอบแทน มีการขึ้นค่าโอที สวัสดิการ ที่พัก หอพักที่ต้องปรับปรุง ซึ่งจากช่วงโควิด ทำให้มีเงินบำรุงและนำมาปรับปรุงตรงนี้ได้

ส่วนความก้าวหน้า การศึกษาต่อ การเลื่อนระดับ การกำหนดตำแหน่งสูงขึ้น ได้หารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ตลอด ส่วนเรื่องภาระงาน อย่างแพทย์มี 2 หมื่นกว่าคน จึงต้องมีแผนผลิตเพิ่ม

ล่าสุด ได้มีการปรับกรอบอัตรากำลังใหม่จะประกาศปี 2565-2569 โดยวางกรอบ 35,000 คนในปี 2569 จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ 24,000 คน ซึ่งจะเพิ่มขึ้น 1 หมื่นคน

ส่วนข้อเรียกร้องที่ได้รับทราบ  จะนำข้อมูลมาจัดทำเป็นแผนดำเนินการ รวมทั้งหารือกับสำนักงาน ก.พ. มีเครื่องมือหลาย ๆ อย่าง เช่น การทำแซนบ็อกซ์ การจ้างแพทย์หลากหลายแบบ โดยเน้นเพิ่มจำนวนคน แต่ไม่ลดการบริการ เพื่อไม่ให้กระทบประชาชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo