General

กรมวิทย์ฯ เตือนโรงแรมเกาะสมุย เฝ้าระวังเชื้อโนโรไวรัส-ลีจิโอเนลลา ในน้ำกินน้ำใช้

กรมวิทย์ฯ กระตุ้นผู้ประกอบการโรงแรมเกาะสมุย เฝ้าระวังเชื้อโนโรไวรัสและเชื้อลีจิโอเนลลาในน้ำอุปโภคบริโภค สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

วันนี้ (23 มีนาคม 2566) นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม โครงการเฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัส และเชื้อลีจิโอเนลลา ในน้ำอุปโภคบริโภคของโรงแรมในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เฝ้าระวังเชื้อโนโรไวรัส

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และป้องกันสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ให้ปลอดภัยจากเชื้อโนโรไวรัสและเชื้อลีจิโอเนลลา รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของโรงแรม เพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว และเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังเกาะสมุยเพิ่มมากขึ้น เป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ได้จัดทำโครงการเฝ้าระวังเชื้อโนโรไวรัสและเชื้อลีจิโอเนลลาในน้ำอุปโภคบริโภคของโรงแรมในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เพราะมีธรรมชาติอันงดงาม น้ำทะเลใส ทำให้แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์

จากข้อมูลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำ ที่มีโอกาสจะเป็นแหล่งกำเนิดโรค เช่น หอผึ่งเย็น เครื่องปรับอากาศ ถังเก็บน้ำ ฝักบัวอาบน้ำ ก๊อกน้ำ น้ำพุ และสปา เป็นต้น จากสถานประกอบการโรงแรมในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย ในปี 2565 จำนวน 44 ตัวอย่าง พบเชื้อลีจิโอเนลลาเพียง 1 ตัวอย่าง ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงไม่ให้มีเชื้อแล้ว

ดังนั้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรค ในน้ำอุปโภคบริโภคของโรงแรม ไปสู่นักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เชื้อโนโรไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคทางเดินอาหารอักเสบเฉียบพลัน และเชื้อลีจิโอเนลลา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน

กรมวิทย์

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี จึงได้จัดทำโครงการเฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัส และเชื้อลีจิโอเนลลาในน้ำอุปโภคบริโภคในโรงแรมขึ้น โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ แนะแนวทางการบริหารจัดการการปนเปื้อน เชื้อก่อโรคในน้ำอุปโภคบริโภค ให้แก่ผู้ประกอบการโรงแรม และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานสุขาภิบาลน้ำอุปโภคบริโภคจากโรงแรม และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ การสร้างสุขลักษณะที่ดี และปราศจากการปนเปื้อนเชื้อโรค ในโรงแรมของประเทศไทย ช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศ

กรมวิทย์2

สำหรับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และร่วมกันกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อเฝ้าระวังการเชื้อก่อโรคในน้ำอุปโภคบริโภคของโรงแรมไปสู่นักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรค โดยบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่น่าจะเป็นแหล่งรังโรค ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ และใส่สารชีวฆาต (biocides) เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ เก็บตัวอย่างน้ำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ตลอดจนรักษาอุณหภูมิของน้ำ

ขณะที่องค์การอนามัยโลก แนะนำให้รักษาความสะอาดระบบน้ำร้อน น้ำเย็น และรักษาระดับอุณหภูมิน้ำร้อนที่ 60 °C และน้ำเย็นต่ำกว่า 20 °C

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo