General

อัปเดตไข้หวัดนก กัมพูชาเจอรายที่ 2 หวั่นลามเข้าไทย เผยอาการ วิธีป้องกันลดเสี่ยง

“หมอเฉลิมชัย” ไล่เรียงสถานการณ์ไข้หวัดนก กัมพูชาพบรายที่ 2 แล้ว หวั่นขยับข้ามแดนเข้าไทย เผยวิธีสังเกตอาการ การป้องกันลดความเสี่ยงติดเชื้อ

นพ..เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย เรื่อง จับตามองสถานการณ์ไข้หวัดนก กัมพูชาเจอรายที่ 2 หวั่นลามเข้าไทย โดยระบุว่า

ไข้หวัดนก กัมพูชา

โรคไข้หวัดนก (Bird Flu) เป็นโรคติดต่อของระบบทางเดินหายใจ ที่เกิดจากไวรัสชนิดหนึ่งในกลุ่มไข้หวัดใหญ่ โดยมีต้นกำเนิดจากสัตว์ปีก

กัมพูชาซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านกับไทย ได้พบไข้หวัดนกและมีผู้เสียชีวิตแล้ว

เนื่องจากการไปมาหาสู่ระหว่างกัมพูชากับไทยเป็นเรื่องปกติและมีเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ปีก จึงมีความเสี่ยงที่ไทยอาจพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกได้

1. 16 กุมภาพันธ์ 2566 เด็กหญิงกัมพูชาวัย 11 ปี มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดนก

2. เด็กหญิงรายดังกล่าวได้รับการวินิจฉัยยืนยันว่า เป็นไข้หวัดนกและเสียชีวิต เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ณโรงพยาบาลเด็กในกรุงพนมเปญ

3. หลังจากนั้นทางกัมพูชาได้เร่งตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงจำนวน 12 ราย และพบว่าพ่อของเด็กอายุ 49 ปี มีผลตรวจเป็นบวก ในขณะที่อีก 11 รายผลตรวจเป็นลบ

หมอเฉลิมชัย
นพ..เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

4. เด็กหญิงวัย 11 ปีที่เสียชีวิต มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยชัดเจน

5. จนปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนกจะสามารถแพร่จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ โดยการติดต่อนั้นจะเกิดจากไวรัสแพร่จากสัตว์ปีกมาสู่คน

6. มีการพบผู้ป่วยไข้หวัดนกประปรายตั้งแต่ช่วงปี 2557 แต่มีจำนวนน้อย

7. ในปีนี้มีรายงานแล้วหนึ่งเคส เป็นเด็กหญิงอายุเก้าขวบที่ประเทศ Ecuador โดยติดมาจากสัตว์ปีกที่เลี้ยงอยู่ในบริเวณบ้าน เธอมีอาการรุนแรง แต่ไม่เสียชีวิต และไม่มีญาติพี่น้องที่ติดไข้หวัดนก

8. โรคไข้หวัดนก เกิดจากไวรัสสายพันธุ์ H5N1 อยู่ในตระกูล Avian Influenza

9. พบไข้หวัดนกเป็นครั้งแรกในโลกในปี 2539 ต่อมาพบระบาดในประเทศไทยในปี 2547-2549 หลังจากนั้นไทยก็ไม่พบเคสไข้หวัดนกอีก

ไก่

10. ไข้หวัดนกพบในสัตว์ปีกได้ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นนก ไก่ เป็ด หรือห่าน แต่ในขณะนี้เริ่มมีรายงานพบใน นาก สิงโตทะเลและตัวมิ้งบ้างแล้ว

11. อาการของผู้ป่วยไข้หวัดนก จะมีไข้สูง ไอ หายใจเหนื่อยหอบเนื่องจากมีปอดอักเสบ ในบางรายอาจมีอาการของระบบทางเดินอาหารคือท้องเสีย และระบบประสาทคือซึมและชัก

12. กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง ก็คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ และสตรีตั้งครรภ์

13. การรักษาในขณะนี้ยังใช้ยาต้านไวรัสของโรคไข้หวัดใหญ่

14. ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกโดยตรง

15. วิธีป้องกันที่ดีในขณะนี้คือ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ส่วนการรับประทานเนื้อสัตว์ปีกที่ปรุงให้สุกแล้วยังถือว่าปลอดภัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo