COVID-19

‘ดร.อนันต์’ เปิดกลไกการเปลี่ยนแปลงของ ‘โอไมครอน’ ทำไมติดเชื้อง่ายขึ้น

“ดร.อนันต์” เผยการเปลี่ยนแปลงโปรตีนหนามสไปค์ของโอไมครอน สาเหตุที่ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น จากการเพิ่มประจุบวกมากกว่าประจุลบ

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊กเพจ Anan Jongkaewwattana ถึงสาเหตุที่โอไมครอนพัฒนาตัวเองจนติดเชื้อง่ายขึ้น โดยระบุว่า

การเปลี่ยนแปลงของโปรตีนหนามสไปค์ของไวรัสโอไมครอน เชื่อว่าส่งผลให้ไวรัสจับกับเซลล์เจ้าบ้านได้ดีขึ้นกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ จับดีขึ้นแน่นขึ้นก็จะติดเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายขึ้น

งานวิจัยก่อนหน้านี้จะมุ่งไปที่ความสามารถของโปรตีนหนามสไปค์ต่อการจับกับโปรตีนตัวรับ ACE2 เป็นหลัก แต่การศึกษาล่าสุดจากทีมวิจัยของ University of North Carolina และ UCSD ของสหรัฐอเมริกา บอกว่าการเปลี่ยนแปลงที่พบในไวรัสกลุ่มโอไมครอนมีอะไรมากกว่านั้น

อนันต์ 1

ทีมวิจัยพบว่า ถ้าไปดูภาพรวมของประจุบนโปรตีนหนามสไปค์ของไวรัส ตั้งแต่เริ่มต้นพบการระบาด ประจุโดยรวมจะเป็นประจุลบมากกว่าบวก

แต่พอไวรัสเริ่มเปลี่ยนแปลง จะเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนประจุจากลบมาเป็นบวกเพิ่มขึ้น และ ชัดเจนมากที่สุดในกรณีของโอไมครอนที่ประจุโดยรวมบนโปรตีนหนามสไปค์เป็นบวกแบบสูงกว่าตัวก่อน ๆ มาก โดยส่วนที่เปลี่ยนประจุบวกบนโปรตีนหนามรวมกันเหนาแน่น เป็นส่วนที่นักวิจัยตั้งชื่อว่า Bullseye pattern

โดยธรรมชาติความที่เป็นส่วนที่เป็นประจุบวกมาก ๆ ก็จะไปดึงดูดกับส่วนที่เป็นประจุลบบนผิวเซลล์ได้ดี ซึ่งโครงสร้างบนเซลล์ที่เป็นประจุลบก็คือ กลุ่มน้ำตาลบนผิวเซลล์ ชื่อว่า Heparan sulfate ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก

ถ้านึกภาพตามในคลิป น้ำตาลจะเหนียว ๆ จะติดกับไวรัสได้ดี ก็จะเป็นปัจจัยหลักในการจับไวรัสมาที่ผิวเซลล์ได้มากขึ้น ทำให้โอกาสที่ไวรัสจะไปเจอ ACE2 และ ไขเข้าสู่เซลล์ได้มากขึ้นกว่าเดิม นับว่าเป็นอีกกลไกหนึ่งที่โอไมครอนใช้ปรับมาติดเซลล์ได้ดีขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo