แอสตร้าฯ เผยผลการศึกษา ฉีดครบ 3 เข็ม ประสิทธิผลป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจากโอไมครอน สูงเทียบเท่าวัคซีน mRNA
รายงานข่าวจาก แอสตร้าเซนเนก้า ระบุว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาการใช้วัคซีนจริงกว่า 50 กรณีศึกษา พบว่า การได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าฯ ครบ 3 เข็ม มีประสิทธิผลในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจากสายพันธุ์โอไมครอน ในระดับสูงไม่แตกต่างจากการได้รับวัคซีนชนิด mRNA ครบ 3 เข็ม
ผู้เชี่ยวชาญได้ข้อสรุปว่า การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 4 เป็นการเพิ่มระดับการป้องกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยข้อมูลการศึกษาจากการใช้จริง ในทวีปเอเชีย ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เมษายน 2565 นั้น ไม่พบการเจ็บป่วยรุนแรงในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 4 ที่เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีน mRNA2
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมการศึกษาในครั้งนี้ กล่าวว่า ในขณะที่โอไมครอนกลายเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลก
การศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน ที่เราใช้เป็นวัคซีนหลักทั่วโลก จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงอันเนื่องมาจากสายพันธุ์โอไมครอน คือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่มีอยู่แล้ว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง
ด้านผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติด้านโรคติดเชื้อจากเอเชียและละตินอเมริกาทั้งหมด 22 คน ที่ได้ร่วมทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลในครั้งนี้ มีข้อสรุปว่า ควรกำหนดให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นปีละ 1 ครั้งในประชากรทั่วไป และทุก 6 เดือนสำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังต่าง ๆ
ศาสตราจารย์กาย ทเวทส์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยทางคลินิกของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในเวียดนาม หนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมการศึกษาในครั้งนี้ กล่าวว่า การศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการกำหนดนโยบายการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่โรคประจำถิ่น
นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นแนวทางว่า คนทั่วไปควรได้รับวัคซีนกระตุ้นทุก ๆ ปี ในขณะที่กลุ่มเปราะบางควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 6 เดือน
รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลฉบับนี้ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ และสาธารณชน ว่าการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งชนิดไวรัลเวคเตอร์ และชนิด mRNA เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น มีประสิทธิผลในการป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงจากโอไมครอนได้ดี โดยมีระดับภูมิคุ้มกันลดลงน้อยมาก แม้ว่าจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นผ่านไปแล้ว 3 เดือน
ข้อมูลจากการวิเคราะห์ยังแสดงให้เห็นว่าการใช้วัคซีนอื่น ๆ เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจากโอไมครอนได้ดี แต่มีประสิทธิผลต่ำกว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนชนิด mRNA เล็กน้อย1
รายงานฉบับดังกล่าว ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากกรณีศึกษาจำนวน 50 เรื่อง บน Viewhub จากความร่วมมือของวิทยาลัยสาธารณสุขจอห์น ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก และศูนย์การเข้าถึงวัคซีนนานาชาติ
ปัจจุบัน แอสตร้าเซนเนก้าและพันธมิตรทั่วโลก ได้ส่งมอบวัคซีนมากกว่า 3,000 ล้านโดส ให้แก่ประเทศต่าง ๆ มากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก และประมาณ 2 ใน 3 ของจำนวนวัคซีนดังกล่าวได้ถูกส่งมอบให้กับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ และกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เปิดผลศึกษา ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 4 ป้องกันโอไมครอนสูงถึง 73%
- ‘หมอเฉลิมชัย’ บอกข้อดีวัคซีนโควิด ‘พ่นจมูก’ หลังอินเดียอนุมัติใช้ฉุกเฉินตัวแรกของโลก
- ข่าวดีคนกลัวเข็ม!! วัคซีนโควิดแบบสูดดม ฝีมือจีน สร้างภูมิคุ้มกันโอไมครอน 92.5%