COVID-19

‘หมอนิธิพัฒน์’ บอกข่าวดี!! ฉีดวัคซีน รักษาตัวเองที่บ้าน ช่วยลดอาการลองโควิด

“หมอนิธิพัฒน์” เผยข่าวดีงานวิจัยจุฬา ในอินโดนีเซีย พบผู้ป่วยโควิดที่ฉีดวัคซีน และรักษาตัวที่บ้าน ช่วยลดอาการลองโควิด ปวดศีรษะ ไอ ปวดข้อ

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล บอกข่าวดี การฉีดวัคซีน รักษาตัวที่บ้าน ช่วยลดอาการลองโควิดได้ โดยระบุว่า

อาการลองโควิด

เขามาแล้วฝีดาษวานรรายที่สอง โผล่ขึ้นใจกลางประเทศเมืองหลวงเมืองฟ้าที่น่าจะเสี่ยงที่สุดแล้วของบ้านเรา  ยังดีว่าไปผุดที่โรงพยาบาลคนละฝั่งเจ้าพระยา เพราะที่บ้านริมน้ำสถานการณ์โควิดวันนี้ยังทรงในทางดีขึ้นเล็กน้อย

ส่วนของประเทศคงยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน ยกเว้นยอดคนเข้าโรงพยาบาลเยอะขึ้น และเสียชีวิตเพิ่มมาเป็น 37 ราย

ถ้าไม่อยากให้ซ้ำรอยประวัติศาสตร์เดลตาเมื่อจุดสูงสุดที่ 18 สิงหาคม 2564 ดังรูป เรามีงานต้องทำกันอีกเยอะ

เดลตา

วันนี้มีงานวิจัยที่น่าภาคภูมิใจ ภายใต้การสนับสนุนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ทำการศึกษาในคนอินโดนีเซีย จำนวน 923 คน ที่ป่วยจากโควิดในช่วง กรกฎาคม 2564 ถึง กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีผู้ป่วยที่ฉีดวัคซีนครบก่อนป่วยไม่ถึง 20%

และส่วนใหญ่คือราว 80% อาการป่วยไม่หนัก และรักษาตัวเองนอกโรงพยาบาล ราวหนึ่งในสามของผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ และได้รับสารอาหารเสริมคือ วิตามินซี วิตามินดี และธาตุสังกะสี

มีผู้ป่วยเพียงหนึ่งในสี่ที่ไม่เกิดลองโควิด อาการที่พบบ่อยเป็นดังรูป

วัคซีน ยา

การฉีดวัคซีน ช่วยลดการเกิดอาการปวดศีรษะ ไอ และ ปวดข้อ ในกลุ่มลองโควิดลงได้ การได้รับยาฟาวิพิราเวียร์และการได้รับสารอาหารเสริม พบว่าไม่ช่วยลดการเกิดลองโควิด ยกเว้นถ้าให้ฟาวิพิราเวียร์เร็วอาจช่วยลดเฉพาะอาการปวดข้อได้ (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/…/PMC…/pdf/pone.0271385.pdf)

โดยส่วนตัวให้คำแนะนำกับคนที่มาปรึกษาเรื่องการป่วยด้วยโควิดว่า ถ้ามีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงดี ไม่ใช่คนมีโรคเรื้อรังที่เสี่ยงต่อโควิดรุนแรง (อายุเกิน 60 ไม่ใช่ปัญหา) ถ้าได้รับวัคซีนอย่างน้อยเข็มมาตรฐานครบ โอกาสเกิดโรครุนแรงจากโควิดน้อยมากไม่ถึง 1%

ทั้งนี้ แนะนำให้รักษาตัวเองและสังเกตอาการที่บ้าน ไม่ต้องไปโรงพยาบาลให้เป็นภาระต่อภาคการแพทย์ แล้วสังเกตอาการของโรคลุกลามที่ต้องปรึกษาแพทย์คือ มีไข้เกิน 38 องศาวัดห่างกัน 4 ชั่วโมงยังไม่ยอมลง หรือขณะนั่งพักแล้วหายใจเกิน 22 ครั้งต่อนาทีหรือชีพจรเกิน 100 ครั้งต่อนาทีหรือระดับออกซิเจนปลายนิ้ววัดได้ตั้งแต่ 94% ลงไป ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์เช่นนี้น่าจะถึงร้อยคนแล้ว

ทั้งหมดหายดียังไม่มีรายใดต้องเข้าโรงพยาบาล ส่วนการเกิดลองโควิดเท่าที่ถามดูก็มีไม่เยอะ และถ้ามีก็ไม่รุนแรง

นิธิพัฒน์
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล

ในความเห็นส่วนตัวของผม การดูแลรักษาโควิดด้วยตัวเองที่บ้านอย่างมีความรู้ความเข้าใจ น่าจะช่วยลดโอกาสทางอ้อมต่อการเกิดลองโควิด เพราะสภาพจิตใจดีกว่าการต้องไปพึ่งพาโรงพยาบาล

สำหรับในบางรายที่จัดหาได้ ก็จะแนะนำให้หาน้ำยากลั้วคอเบตาดีนมากลั้วคอบ่อย ๆ เพื่อลดปริมาณไวรัสในลำคอ และให้กินยาละลายเสมหะ (acetylcysteine) ในขนาดสูงคือ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อหวังฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ที่ร่างกายเราต่อต้านไวรัสมากเกินไป

สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ก็จะแนะนำให้เสริมกระชายขาว ขมิ้นชัน ขิง และน้ำผึ้ง ส่วนยาฟ้าทะลายโจรจะใช้ได้เจ้าตัวต้องไม่มีโรคตับรุนแรงอยู่ก่อน โดยกินในขนาดที่ทำให้ได้รับสารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับวันละเก้าเม็ด (เม็ดละ 20 มิลลิกรัม) นานห้าวัน

ระหว่างรักษาให้แยกตัวจากคนอื่นนาน 7-10 วัน และถ้าหายดีแล้ว อยากไปฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นเพิ่ม ก็ให้รอไปอีก 3 เดือน

การรักษาด้วยยาต้านไวรัส ไม่ว่าจะเป็นฟาวิพิราเวียร์ที่ทำให้อาการดีขึ้นเร็ว หรือโมลนูพิราเวียร์และแพ็กซ์โลวิดที่ทำให้อาการดีขึ้นเร็ว และช่วยลดโอกาสโรคลุกลาม ล้วนทำการศึกษาในช่วงที่คนยังฉีดวัคซีนกันน้อยหรือไม่ได้ฉีด

มาถึงยุคนี้ จึงควรเก็บยาไว้สำหรับคนที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหายาขาดแคลน เพราะภาครัฐไปโหมสร้างอุปทานเทียม อีกทั้งช่วยลดโอกาสการดื้อต่อยาเหล่านี้ของเชื้อซาร์โควี-2 ในอนาคต

นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ไม่ต้องไปเสี่ยงกับผล mutagenesis ที่อาจตกค้างจากการกินฟาวิและมอลนู เพราะยาทั้งสองตัวทำให้เกิดการสร้างสายพันธุกรรมของไวรัสผิดปกติ และมีผู้ห่วงกันว่าอาจมีผลหลงเหลือต่อคนกินด้วย

วันหยุดยาวนี้ได้เสพสุขจากตัวอักษรเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องสั้นฝีมือบรมครูที่ยกเป็นต้นแบบงานเขียนของตัวเอง คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์

ครั้งหนึ่งเขาเป็นคนไข้ของผมที่ดูแลกันมากว่าสิบปีจนท่านสิ้น ช่วงเวลานั้นท่านยังเป็นกัลยาณมิตรอาวุโสของผมคนหนึ่ง ที่มอบหนังสือซึ่งท่านเขียนไว้เป็นจำนวนมาก แถมด้วยคำแนะนำการเขียนหนังสือให้น่าติดตามพร้อมลายเซ็นที่เป็นเอกลักษณ์ด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo