COVID-19

โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4-BA.5 น่ากลัวตรงไหน ‘หมอขวัญชัย’ สรุปสถานการณ์ล่าสุด

“หมอขวัญชัย” วิเคราะห์สถานการณ์โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4-BA.5 ในไทย หลังพบระบาดเพิ่มขึ้น หลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo เรื่อง ควรกังวลการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4-BA.5 ในประเทศไทยหรือไม่? โดยระบุว่า

สายพันธุ์ย่อย BA.4-BA.5

โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4-BA.5 คืออะไรกันแน่ น่ากลัวตรงไหน

ตั้งแต่องค์การอนามัยโลก ประกาศให้โอไมครอน เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC หรือ Variant of Concern) ในเดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา เชื้อก็มีการกลายพันธุ์ต่อไปจนเกิดสายพันธุ์ย่อย BA.1 BA.2 BA.3 BA.4 BA.5 และอื่น ๆ

แต่สายพันธุ์ย่อยที่อยู่ในความสนใจ และติดตามอย่างใกล้ชิดในปัจจุบัน คือ BA4 และ BA5 ซึ่งมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้เร็วกว่า อาจจะทำให้เกิดอาการรุนแรงมากกว่า รวมทั้งสามารถหลบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อจากโอไมครอนสายพันธุ์เดิม

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามข้อมูลเหล่านี้ในชีวิตจริง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน ทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ การได้รับวัคซีน และทั้งสองอย่าง รวมทั้งในพื้นที่ที่ประชาชนยังมีความเข้มงวดในการป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคลด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่เชื้อสายพันธุ์ย่อยทั้ง 2 ชนิดนี้ อาจจะไม่น่ากลัวมากเท่าที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายกังวล

การตรวจพบโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ในประเทศไทย

จากข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการตรวจพบเชื้อ 2 สายพันธุ์นี้ในประเทศไทยตั้งแต่เดือนเมษายนแล้ว ซึ่งระยะแรกส่วนใหญ่นำเข้ามาโดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ แต่ในระยะหลังก็เริ่มพบจากการติดเชื้อภายในประเทศ และพบมากขึ้นเรื่อย ๆ

LINE ALBUM covid Omicron ๒๒๐๔๒๐

ล่าสุดในช่วงวันที่ 11-17 มิถุนายน 2565 พบเชื้อสายพันธุ์ BA4/BA5 จำนวน 26 ตัวอย่างหรือเกือบ 7% ของเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน 436 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจจากทั่วประเทศ แสดงว่ามีการระบาดของสายพันธุ์ย่อยทั้ง 2 ชนิดนี้ในชุมชนในประเทศไทยแล้ว

ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะมีการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการระบาดของโรค ทั้งจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และการระบาดภายในประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับมาราว 2-3 เดือนแล้ว

ความรุนแรงของการติดเชื้อ BA.4/BA.5 ในประเทศไทย

เนื่องจากการตรวจสายพันธุ์ของเชื้อในประเทศไทย (หรือแม้แต่ของทุกประเทศทั่วโลก) เป็นการสุ่มตรวจเท่านั้น ไม่ได้ตรวจในผู้ติดเชื้อทุกราย เราจึงไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบความรุนแรงของเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม จากธรรมชาติของสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม จึงคาดได้ว่าน่าจะค่อย ๆ กลายเป็นสายพันธุ์หลักของเชื้อที่ระบาดในประเทศไทยในที่สุด เช่นที่เกิดขึ้นในการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์อื่น ๆ ที่ผ่านมา

การติดตามข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อและความรุนแรงของโรคอย่างใกล้ชิด เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะในขณะที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นของเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 หากจำนวนผู้ป่วยโดยเฉพาะที่มีอาการรุนแรง และผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด ไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่า การระบาดของสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ไม่ก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงมากนัก

ติดเชื้อรายวัน

รูปที่ 1 แสดงจำนวนผู้ป่วยโควิดในประเทศไทยตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565 จนถึงปัจจุบัน ให้เปรียบเทียบระหว่าง 2 ช่วงคือ 1-10 มิถุนายน ที่พบ BA.4/BA.5 น้อยมาก กับช่วง 11-22 มิถุนายน ที่พบ BA.4/BA.5 ราว 7% จะเห็นว่าใกล้เคียงกันมาก

รูปที่ 2 แสดงความรุนแรงของผู้ป่วยโควิดในประเทศไทยตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565 จนถึงปัจจุบัน ให้เปรียบเทียบระหว่าง 2 ช่วงคือ 1-10 มิถุนายน ที่พบ BA.4/BA.5 น้อยมาก กับช่วง 11-22 มิถุนายน ที่พบ BA.4/BA.5 ราว 7% จะเห็นว่าใกล้เคียงกันมากเช่นเดียวกัน

เสียชีวิต

แม้ว่าจะยังไม่เห็นแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่ชัดเจนของการระบาด และความรุนแรงของโรค ของช่วงที่มี BA.4/BA.5 ราว 7% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ยังไม่มี 2 สายพันธุ์ย่อยนี้ แต่เนื่องจากขณะนี้อัตราส่วนการติดเชื้อ BA.4/BA.5 ยังไม่สูงมากนัก ซึ่งยังต้องติดตามข้อมูลต่อไป

ที่สำคัญคือ เราคงต้องพยายามป้องกันตัวเอง โดยเน้นให้ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากและเร็วที่สุด

รวมทั้งยังอยากให้ทุกคนเข้มงวดในการป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคลต่อไป ได้แก่ สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ เมื่อต้องพบปะใกล้ชิดผู้อื่น เข้าไปในสถานที่ที่มีคนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถรักษาระยะห่างได้ และสถานที่ปิดที่ระบบระบายอากาศไม่ดี จนกว่าจะแน่ใจว่าสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคได้ดีแล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo