COVID-19

‘หมอขวัญชัย’ หนุนเชียงใหม่ นำร่องโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่น

“หมอขวัญชัย” หนุนเชียงใหม่จังหวัดนำร่อง บริหารจัดการโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่น ป่วยตายต่ำกว่า กทม. 6 เท่า

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo เรื่อง เป็นไปได้หรือไม่ที่เชียงใหม่จะเป็นจังหวัดนำร่องบริหารจัดการโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่น (Endemic Sandbox)

โรคประจำถิ่น

ตามข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้กรุงเทพมหานคร เดินหน้าเป็นจังหวัดนำร่องบริหารจัดการโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่น (Endemic Sandbox) นั้น นับเป็นเรื่องที่ดี

เพราะหากกำหนดให้ทำพร้อมกันทั่วประเทศ บางพื้นที่อาจพบอุปสรรคที่ไม่คาดคิด ทำให้เกิดความเสี่ยงที่แผนการดำเนินงานในระดับประเทศอาจสะดุดหยุดลงได้ จึงควรเริ่มต้นในจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน

ซึ่งถ้าประสบผลสำเร็จหรือแม้แต่มีปัญหาอุปสรรคก็สามารถถอดบทเรียนเพื่อเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆดำเนินการตามได้ และมีโอกาสที่ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่นได้อย่างนุ่มนวล

ถ้าดูเป้าหมายสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่นของกระทรวงสาธารณสุข 3 ข้อคือ

1. อัตราการป่วยตายไม่เกิน 0.1%

2. ความครอบคลุมวัคซีนเข็มกระตุ้น ≥60%

3. สร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องและความร่วมมือของประชาชน

ถ้าต้องให้มีครบทั้ง 3 ข้อ อาจไม่มีจังหวัดไหนในประเทศไทยเลย ที่สามารถเป็นจังหวัดนำร่องได้ โดยเฉพาะข้อ 3 ซึ่งน่าจะวัดผลสัมฤทธิ์ได้ยาก จึงต้องใช้เป้าหมายข้อ 1 และ 2 เป็นหลัก เพราะทุกจังหวัดมีข้อมูลดังกล่าวอยู่แล้ว

แต่ถึงกระนั้น ถ้าต้องให้ครบทั้ง 2 ข้อ ก็น่าจะยังยากที่จะมีจังหวัดไหนในประเทศไทยมีคุณสมบัติเช่นนั้น

เชียงใหม่ โควิด

ยกตัวอย่างเช่น กทม. ที่กำลังจะเป็นจังหวัดนำร่องแห่งแรก แม้จะสามารถฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นครอบคลุมได้เกิน 60% ของประชากรไปแล้ว แต่อัตราการป่วยตายจากโอไมครอนยังอยู่ที่ 0.3% ซึ่งยังสูงกว่าเป้าหมายไม่เกิน 0.1% ที่กระทรวงฯตั้งไว้ไม่น้อย

แต่อาจเชื่อได้ว่าการที่ชาวกทม.ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นจำนวนมาก น่าจะทำให้อัตราการป่วยตายจากโควิดไม่เพิ่มขึ้น และน่าจะลดลงเรื่อย ๆ จนต่ำกว่า 0.1% ในที่สุด

ทางกทม.คงต้องใช้ดัชนีนี้ ในการติดตามผลการดำเนินการอย่างใกล้ชิด หากมีสัญญาณว่าอัตราการป่วยตายจากโควิดเพิ่มขึ้นเมื่อใด ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรีบทบทวนเพื่อหาสาเหตุและดำเนินการแก้ไขทันที

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ต้องยอมรับว่าก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายครบทั้ง 2 ข้อเช่นเดียวกัน แต่มีเรื่องที่อาจนำมาพิจารณาประกอบว่า จะสามารถเป็นจังหวัดนำร่องบริหารจัดการโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่นได้หรือไม่

1. อัตราการป่วยตายจากโควิดของจังหวัดเชียงใหม่ (นับจาก 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นระลอกการระบาดของโอมิครอน) ต่ำมากคือ 0.05% เท่านั้นเอง

2. จนถึง 5 พฤษภาคม 2565 แม้ว่าราว 90% ของชาวเชียงใหม่จะได้รับวัคซีนแล้วแต่ยังมีผู้มาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพียง 36% ถือว่ายังต่ำกว่าเป้าหมาย 60% ของกระทรวงฯค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายแรกคือ อัตราการป่วยตายจากโควิดต่ำ น่าจะมีความสำคัญกว่าเป้าหมายที่สอง เพราะ

1. ทั้ง ๆ ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ได้น้อยกว่า แต่อัตราการป่วยตายจากโควิดของเชียงใหม่ต่ำกว่ากทม.ถึง 6 เท่า (0.05% เทียบกับ 0.3%)

2. ในขณะที่เชียงใหม่ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ได้ใกล้เคียงกับทั่วประเทศ แต่อัตราการป่วยตายของเชียงใหม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศถึง 4 เท่า (0.05% เทียบกับ 0.2%)

3. อัตราการป่วยตายในเชียงใหม่ถือว่าต่ำกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมากพอสมควร (ประมาณ 0.1-0.2%)

4. การฉีดวัคซีนเป็นความสมัครใจส่วนบุคคล การตั้งเป้าหมายว่าอยากจะฉีดให้มากที่สุดนั้นอาจทำได้ แต่จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นกับหลายปัจจัย

วัคซีน เชียงใหม่

ดังนั้น แม้ว่าชาวเชียงใหม่ทั้งหมดจะยังได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่ถึง 40% แต่ทางจังหวัดก็มีความพยายามที่จะเพิ่มการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากโควิดคือ

1. กลุ่มผู้สูงอายุ ปัจจุบันฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว 47%

2. กลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง ฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว 58%

ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นครอบคลุม 2 กลุ่มนี้ได้ตามเป้าหมาย 60% ในอีกไม่นาน จึงพอจะเชื่อได้ว่าอัตราการป่วยตายจากโควิดในเชียงใหม่ซึ่งขณะนี้ก็ถือว่าต่ำมากอยู่แล้วมีโอกาสน้อยมากที่จะเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ

อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับกทม. หากภาครัฐกำหนดให้เชียงใหม่เป็นจังหวัดนำร่องด้วย ก็มีความจำเป็นที่จะต้องติดตามอัตราการป่วยตายจากโควิดอย่างใกล้ชิด

หากเริ่มมีสัญญาณว่าเพิ่มขึ้นจนอาจเกิน 0.1% ต้องรีบทบทวนเพื่อหาสาเหตุและดำเนินการแก้ไขทันที

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo