COVID-19

‘หมอขวัญชัย’ คาดโควิดเป็นโรคประจำถิ่นเร็วกว่ากำหนด ทยอยยกเลิกมาตรการ

“หมอขวัญชัย” อัพเดทโควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น หลังรัฐเริ่มทยอยยกเลิกมาตรการควบคุมโรค

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo เรื่อง อัพเดทการเปลี่ยนโควิดเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศไทย กับมาตรการควบคุมโรคที่ยังเหลืออยู่ โดยระบุว่า

โรคประจำถิ่น

การเปลี่ยนผ่านโควิด จากโรคระบาดเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศไทย เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น

จากเดิมที่ภาครัฐเคยประเมินว่า การระบาดของโอไมครอนในประเทศไทยน่าจะเข้าสู่ระยะขาลง (Declining phase) ในระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 และน่าจะประกาศการเป็นโรคประจำถิ่น (Post-pandemic หรือ Endemic phase) ได้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565

แต่จากการประเมินสถานการณ์การระบาดเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า ประเทศไทยเข้าสู่ระยะขาลงอย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งมีความก้าวหน้าเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ราว 1 เดือน

9bfgnhv

ดังนั้นจึงประกาศให้มีการผ่อนคลายหลายมาตรการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา ทำให้ปัจจุบันยังคงเหลือมาตรการในการควบคุมโรคน้อยลงมาก ดังนี้

1. การกำหนดพื้นที่การระบาดและเฝ้าระวังโรค ปัจจุบันเหลือเพียงพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) 14 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 46 จังหวัด และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 17 จังหวัดเท่านั้น

แม้ว่าในพื้นที่สีเหลือง 46 จังหวัดจะยังคงมีมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดบ้าง เช่น ยังไม่อนุญาตให้เปิดสถานบันเทิง รวมทั้งยังมีการจำกัดการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก แต่เชื่อว่าน่าจะปรับเป็นพื้นที่สีเขียวทั้งหมดในเร็ว ๆ นี้ เพื่อปลดล็อคให้ประชาชนได้เดินหน้าทำมาหากินได้อย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ

2. การแจ้งเตือนสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศไทย

แม้ว่าปัจจุบันยังคงเป็นระดับ 3 (งดเข้าสถานบันเทิง กลุ่มเสี่ยงเลี่ยงการรวมกลุ่ม) แต่เชื่อว่าน่าจะปรับเป็นระดับ 2 (จำกัดการเข้าสถานที่ปิด) ในเร็ว ๆ นี้ และเป็นระดับ 1 (ใช้ชีวิตตามปกติ) ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า

มาตรการ

3. มาตรการควบคุมผู้ประกอบการ แม้ว่าจะเริ่มให้เปิดสถานบันเทิงในพื้นที่สีเขียวและสีฟ้าตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา แต่ยังคงมีมาตรการควบคุมโรคค่อนข้างเข้มงวดพอสมควร ทำให้อาจเป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ และเกิดความไม่สะดวกสำหรับประชาชนที่ต้องการไปเที่ยวสถานบันเทิงบ้าง เชื่อว่าอีกไม่นานน่าจะค่อย ๆผ่อนคลายลงตามลำดับ

4. การกักตัวผู้ติดเชื้อโควิด แม้ว่าปัจจุบันจะยกเลิกการกักตัวสำหรับผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อให้เหลือเพียงการสังเกตอาการ 10 วันแล้ว แต่ยังคงเหลือมาตรการกักตัวผู้ติดเชื้อที่บ้านอย่างน้อย 10 วันอยู่

เชื่อว่าอีกไม่นานน่าจะค่อย ๆ ลดลง จนยกเลิกการกักตัวในที่สุด เหมือนกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีใครถูกบังคับให้ต้องกักตัวที่บ้านอย่างเข้มงวดเป็นเวลา 10 วันแต่อย่างใด

จะเห็นว่ามีการทะยอยยกเลิกมาตรการในการควบคุมโรคต่าง ๆ ตามลำดับ และใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า หากการติดตามและประเมินผล ไม่พบการระบาดในพื้นที่เพิ่มขึ้น และอัตราการป่วยตายยังลดลงอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศไทย และการยกเลิกมาตรการควบคุมโรคทั้งหมด น่าจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เคยกำหนดไว้

สำหรับมาตรการส่วนบุคคล ในการป้องกันการติดเชื้อ (สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ) น่าจะคงอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

แต่เมื่อสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเด็ดขาดก็คงจะยกเลิกไปในที่สุด โดยอาจเริ่มจากพื้นที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่เปิด และมีบริเวณกว้างก่อน แล้วค่อยทะยอยเพิ่มพื้นที่อื่น ๆ ตามลำดับต่อไป

ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเมื่อเป็นโรคประจำถิ่นอย่างเต็มตัวแล้ว คงจะปรับให้เป็นการฉีดป้องกันโรคตามฤดูกาลในกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรังเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo