COVID-19

‘หมอขวัญชัย’ แนะวิธีเดินหน้าสู่การเปลี่ยนโควิด จากโรคระบาดสู่โรคประจำถิ่น

“หมอขวัญชัย” แนะวิธีการเปลี่ยนผ่าน โควิด-19 จากโรคระบาดสู่โรคประจำถิ่น แบบค่อยเป็นค่อยไป

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo เรื่อง เดินหน้าสู่การเปลี่ยนโควิดจากโรคระบาดสู่โรคประจำถิ่น แบบค่อยเป็นค่อยไป (Slow but sure) โดยระบุว่า

โรคระบาดสู่โรคประจำถิ่น

มีความแตกต่างระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ ในการเปลี่ยนผ่านโควิดจากโรคระบาดเป็นโรคประจำถิ่น

ในขณะที่หลายประเทศดำเนินการแบบฉับพลันทันที แต่ประเทศไทยเลือกที่จะดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้หลายคนหลายฝ่ายอาจจะรู้สึกว่าชักช้าไม่ทันใจ เกรงว่าจะส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ทันประเทศอื่น ๆ หรือไม่

แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากหลายคนหลายฝ่ายเช่นกันว่า รีบเร่งดำเนินการเกินไปหรือไม่ มีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวหรือไม่

ดังนั้นการเดินทางสายกลางจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย

หมอชวัญชัย

รูปที่ 1 แสดงแผนการเดินหน้าเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่นของกระทรวงสาธารณสุข โดยคาดการณ์เป็น 4 ระยะ

1. ระยะต่อสู้โรคระบาด (มีนาคม-ต้นเมษายน 2565)

2. ระยะทรงตัว (เมษายน-พฤษภาคม 2565)

3. ระยะขาลง (พฤษภาคม-มิถุนายน 2565)

4. ระยะสิ้นสุดการเป็นโรคระบาด (1 กรกฎาคม เป็นต้นไป)

จากการประเมินสถานการณ์การระบาดเมื่อสิ้นสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม พบว่ามี 54 จังหวัดมีแนวโน้มเข้าสู่ระยะขาลงแล้ว ในขณะที่มี 23 จังหวัดได้เข้าสู่ระยะทรงตัว ซึ่งมีความก้าวหน้าเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้พอสมควร

ดังนั้น จึงประกาศให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อม ในการเข้าสู่ระยะสิ้นสุดการเป็นโรคระบาด หรือการจัดการโควิดแบบโรคประจำถิ่นนั่นเอง ซึ่งแต่ละจังหวัดอาจดำเนินการไม่พร้อมกันขึ้นกับความพร้อมของแต่ละพื้นที่ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ

1. อัตราการป่วยตายจากโควิดไม่เกิน 0.1%

2. ความครอบคลุมวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มเสี่ยงเป็นหลัก เพราะเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตจากโควิดมากที่สุดในปัจจุบัน

วัคซีน 2

รูปที่ 2 แสดงข้อมูลการระบาดและการฉีดวัคซีนในจังหวัดภาคเหนือ พบว่าส่วนใหญ่ของจังหวัดในภาคเหนือเข้าสู่ระยะขาลงแล้ว ยกเว้นพะเยากับลำปางที่ยังอยู่ในระยะทรงตัว

ส่วนอัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่สูงนัก (16-49%)

แต่สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุหลายจังหวัดทำได้ดีพอสมควร เช่น น่านฉีดได้สูงถึง 61% แล้ว จังหวัดอื่น ๆ ส่วนใหญ่ฉีดได้เกิน 40% มีเพียงไม่กี่จังหวัดที่ยังฉีดได้น้อยกว่า 40% จะเห็นชัดเจนว่าแต่ละจังหวัดมีความพร้อมไม่เท่ากัน

อย่างไรก็ตาม แม้หลายพื้นที่จะมีความพร้อมแล้ว แต่การบริหารจัดการโควิดแบบโรคประจำถิ่น ไม่ใช่การประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมโรคทั้งหมดในทันที จำเป็นต้องดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน โดยทะยอยยกเลิกมาตรการต่าง ๆ ที่ยังเหลืออยู่ตามลำดับ ได้แก่

1. การควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศ

2. การกำหนดพื้นที่การระบาดและเฝ้าระวังโรค

3. การแจ้งเตือนสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศไทย

4. มาตรการควบคุมการจัดกิจกรรมต่าง ๆ

5. มาตรการ Work from home

6. การเรียนการสอนแบบออนไลน์

7. มาตรการควบคุมผู้ประกอบการต่าง ๆ

8. การตรวจ ATK ในคนที่ไม่มีอาการ

9. การตรวจ ATK ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมหรือก่อนเข้าสถานที่ต่าง ๆ

10. การรายงานจำนวนผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อย

11. การกักตัวผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ และการกักตัวผู้ติดเชื้อโควิด

LINE ALBUM วัคซีนโควิดรพ.สนามยา ๒๒๐๕๑๘เมื่อทะยอยยกเลิกมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้จนหมดแล้ว ต้องมีการติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิด ว่าไม่พบการระบาดในพื้นที่เพิ่มขึ้น จึงค่อยพิจารณายกเลิกมาตรการส่วนบุคคลในการป้องกันการติดเชื้อเป็นลำดับสุดท้าย

โดยอาจเริ่มจากพื้นที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่เปิด และมีบริเวณกว้างก่อน แล้วค่อยทะยอยเพิ่มพื้นที่อื่น ๆ ตามลำดับต่อไป

ที่สำคัญคือต้องเร่งฉีดวัคซีนทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 และเข็มกระตุ้นให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

รวมทั้งในอนาคตต้องวางแผนการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโควิด เช่นเดียวกับการป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo