COVID-19

ยาต้านไวร้ส ‘แพกซ์โลวิด’ อาจไร้ผล หากโควิดกลายพันธุ์จนดื้อยา

ศูนย์จีโนมฯ ชี้ไวรัสกลายพันธุ์ ตำแหน่งที่อาจส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยา เพิ่มจำนวนได้แม้ใช้ยาแพกซ์โลวิด

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เรื่อง ยาต้านไวรัสโคโรนา 2019 ปราการด่านที่สองเพื่อการรักษา และการกลายพันธุ์ที่อาจส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยา (drug resistant variant) โดยระบุว่า

แพกซ์โลวิด

องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 ว่าไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง

ขณะนี้ WHO กำลังติดตามโอไมครอนสายย่อย BA.4, BA.5, BA.2.12.1 อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลายพันธุ์ในส่วนหนามของไวรัสอันอาจส่งผลต่อการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (ประเทศไทย) แถลงผลการศึกษาการใช้วัคซีนต่อไวรัสโคโรนา 2019 (ข้อมูลการประเมินประสิทธิผลวัคซีนจากการใช้จริง จ. เชียงใหม่ ช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2565 ณ วันที่ 8 เมษายน 2565) อันเป็นปราการด่านแรกเพื่อการป้องกัน ระบุว่า

วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยในปัจจุบัน หากได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็มพร้อมเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 ในระยะเวลาที่เหมาะสม สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ 34-68 % หรือประมาณ 50%

อันหมายถึงผู้ที่ได้รับวัคซีน 3 เข็ม ยังมีโอกาสติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถึง 50% จึงมีความจำเป็นโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง (608) หากติดเชื้อต้องพึ่งยาต้านไวรัสเพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิต

จากผลวิจัยพบว่า ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ยาเม็ดรักษาโควิด-19 สามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตสูงถึง 89%

ยาแพ็กซ์โลวิด มีส่วนประกอบของสองตัวยาคือ เนอร์มาเทรลเวียร์ (nirmatrelvir) และ ริโทนาเวียร์ (ritonavir)

เนอร์มาเทรลเวียร์เป็นตัวยาต้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ส่วนริโทนาเวียร์ ช่วยให้ เนอร์มาเทรลเวียร์ คงอยู่ในร่างกายนานขึ้น ในความเข้มข้นที่สูงเพื่อต่อสู้กับไวรัส

เนอร์มาเทรลเวียร์ เป็นตัวยับยั้งการทำงานของ โปรตีเอสหลัก (Main protease/Mpro)” สร้างโดยไวรัสโคโรนา 2019 หรือที่เรียกว่า สารยับยั้งโปรตีเอส (Protease inhibitor: SARS-CoV2 3CL) มีหน้าที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส ในระยะแรกของการเกิดโรคเพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อโควิด-19 (ภาพ1)

1 11

เอ็นไซม์โปรตีเอสของไวรัส ถูกสร้างจากไวรัสจีโนมในส่วนของ ORF1a เป็น “non-structural protein ชนิดที่ 5 (Nsp5) จากทั้งหมด 16 ชนิด เป็น โปรตีเอสหลัก (Mpro)  ซึ่งเป็นเอนไซม์ของไวรัสที่ตัดทอนโปรตีนสายยาวที่ไวรัสสร้างขึ้นมาให้ได้ขนาด

โดยโปรตีนที่ถูกตัดแต่ละชิ้น มีความสำคัญต่อไวรัสในการทำหน้าที่เป็น เอ็นไซม์ ช่วยในการเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรม เพื่อบรรจุใส่ลงในอนุภาคไวรัสลูกหลาน

ยาแพกซ์โลวิดสามารถยับยั้งการทำงานของ Mpro อันส่งผลให้เกิดการยับยั้งไวรัสในการเพิ่มจำนวน

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของสหรัฐอเมริกาออกประกาศให้สามารถใช้ยาแพกซ์โลวิดได้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization: EUA)

ดังนั้น แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ต้องเพิ่มความระวังในการใช้ยาต้านไวรัสแพกซ์โลวิด เพื่อมิให้เกิดเชื้อดื้อยา เหมือนในกรณีของเชื้อเอชไอวี

จากงานวิจัยบ่งชี้ว่า ตำแหน่งที่ควรจับตามองเป็นพิเศษ บนสายจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 3 หมื่นตำแหน่งคือบริเวณ ORF1a ณ.ตำแหน่งกรดอะมิโน Prolin (P) ตำแหน่งที่ 132 ซึ่งพบการกลายพันธุ์ ณ. ตำแหน่งเดียวกันที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับกรดอะมิโน จาก Proline(P) ไปเป็น Histidine(H), Serine(S), หรือ Leucine(L) เช่น

P132H พบในสายพันธุ์ โอไมครอน (BA.1.1.1)

P132S พบในสายพันธุ์ เดลตา (AY.126)

P132L พบในสายพันธุ์ เดลตา (AY.43)

(ภาพ 2-3)

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ได้เริ่มติดตามการกลายพันธุ์ของจีโนมไวรัสโคโรนา 2019 ในส่วนของ ORF1a ที่อาจส่งผลให้เกิดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดื้อต่อยาต้านไวรัสแพกซ์โลวิด กล่าวคือ ไวรัสสามารถเพิ่มจำนวนในร่างกายของผู้ติดเชื้อ แม้จะรับประทานยาแพกซ์โลวิด

อย่างไรก็ดี ทั่วโลกเพิ่งเริ่มใช้ยาต้านไวรัสแพกซ์โลวิดกับผู้ติดเชื้อ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ของการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง P132 ที่ส่งผลให้เกิดไวรัสดื้อต่อยาแพ็กซ์โลวิด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo