COVID-19

ศูนย์จีโนม ไขข้อข้อสงสัย 4 เรื่อง ติดโอไมครอนซ้ำใน 1 เดือน ยอมรับ ‘น่ากังวล’

ศูนย์จีโนมฯ รพ.รามาธิบดี ตอบ 4 ข้อสงสัย ติดโอไมครอนซ้ำใน 1 เดือน เชื่อภูมิคุ้มกันจาก BA.2 ป้องกันได้

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เรื่องติดโอไมครอนซ้ำใน 1 เดือน น่ากังวลใจหรือไม่ เพราะเหตุใด กับ  4 คำตอบที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าใจการติดเชื้อซ้ำของโควิด-19 มากขึ้น

ติดโอไมครอนซ้ำใน 1 เดือน

 

1. การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซ้ำภายใน 1 เดือนและติดในช่วงนี้ (กุมภาพันธ์-มีนาคม 2565) น่ากังวลใจหรือไม่ เพราะเหตุใด

คำตอบคือ น่ากังวล เพราะการแพร่ระบาดในช่วงนี้ของประเทศไทยและของโลก เป็นช่วงการเปลี่ยนถ่ายจากโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 มาเป็น BA.2 โดยทาง WHO ยังคงจัดให้ BA.1 และ BA.2 เป็นเพียงสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน และให้คำแนะนำในการป้องกัน ดูแล และรักษา BA.1 และ BA.2 ที่ไม่แตกต่างกัน

2. มีการพบผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอน BA.1 จากนั้นภายใน 20-60 วันถัดมามีการติดเชื้อซ้ำอีกครั้งซ้ำหรือไม่ (reinfection) จำนวนมากน้อบแค่ไหน

คำตอบคือ มีการศึกษาการติดเชื้อซ้ำในประชากรประเทศเดนมาร์ก ระหว่าง 22 พฤศจิกายน 2564 -11 กุมภาพันธ์ 2565 จากผู้ติดเชื้อจำนวน 1,848,466 ล้านคน พบผู้ติดเชื้อซ้ำ ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมพบว่ามีการติดเชื้อ BA.2 จำนวน 187 ราย

และมีเพียง 47 รายที่จากการถอดรหัสพันธุ์กรรมพบว่า มีการติดเชื้อ BA.1 ก่อน และตามด้วยการติดเชื้อซ้ำด้วย BA.2 ในระยะเวลาระหว่าง 20-60 วัน

สรุปได้ว่า

จากผู้ติดเชื้อ 1,848,466 ล้านคน มีการติดเชื้อจาก BA1 มาก่อนจากนั้นมาติด BA.2 ซ้ำจำนวน 47 ราย และไม่ติด 1,848,419 ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 1 ใน 40,000 ที่ผู้เคยติดเชื้อ BA.1 แล้วไปติด BA.2 ซ้ำ

เดนมาร์ก

Click to access 2022.02.19.22271112v1.full.pdf

3. เหตุใด WHO ยังจัดคงจัดให้ BA.1 และ BA.2 เป็นเพียงสายพันธุ์ย่อยในโอไมครอนสายพันธุ์หลัก และให้คำแนะนำในการป้องกัน ดูแล และรักษา BA.1 และ BA.2 ที่ไม่แตกต่างกัน ทั้งที่พบมีผู้ติดเชื้อซ้ำ

คำตอบคือ เพราะข้อมูลที่ WHO ได้รับจากทั่วโลกสรุปได้ว่า การติดเชื้อซ้ำจาก BA.1 แล้วไปติด BA.2 ซ้ำ เกิดขึ้นได้ แต่พบไม่บ่อยครั้งนัก (ประชากรเดนมาร์ก พบ 1 ใน 40,000)

ประกอบกับผู้ติดเชื้อซ้ำ BA.2 ไม่มีอาการรุนแรงจนต้องเข้า รพ. หรือเสียชีวิต อันหมายถึงภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากการติดเชื้อ BA.1 ยังคงสามารถป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง และป้องกันการเสียชีวิตจาก BA.2 ได้ดีแม้ไม่ 100% ก็ตาม

อีกทั้งผู้ติดเชื้อซ้ำ BA.2 ส่วนใหญ่จะเป็นผู้มิได้รับฉีดวัคซีน อันหมายถึงการฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้

4. พบผู้ติดเชื้อ BA.2 ครั้งแรกแล้วกลับมาติดเชื้อ BA.1 หรือบรรดาสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาก่อนหน้า เช่น เดลตา หรือไม่

คำตอบคือ จากการศึกษาการติดเชื้อซ้ำในประชากรประเทศเดนมาร์ก ระหว่าง 22 พฤศจิกายน 2564 -11 กุมภาพันธ์ 2565 จากผู้ติดเชื้อจำนวน 1.8 ล้านคน ยังไม่พบการติดเชื้อ BA.2 ครั้งแรก แล้วกลับมาติดเชื้อ BA.1 หรือบรรดาสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาก่อนหน้าซ้ำอีก

พอสรุปได้ว่าภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ BA.2 ตามธรรมชาติน่าจะคุ้มครองการติดเชื้อ BA.1 และสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาก่อนหน้านี้ได้ดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo