COVID-19

เปลี่ยน ‘โควิด’ จากโรคระบาดเป็นโรคประจำถิ่น ไทยไปถึงไหนแล้ว?

“หมอขวัญชัย” วิเคราะห์ก้าวเดินไทย เปลี่ยนโควิดจากโรคระบาด เป็นโรคประจำถิ่น ยังต้องใช้เวลา

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo เรื่อง การเปลี่ยนจากโรคระบาดโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ตอนนี้เราไปถึงไหนแล้ว? โดยระบุว่า

โรคประจำถิ่น

ตามแผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ล่าสุดเดือนเมษายน 2565 ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถบรรลุผลสำเร็จของการเป็นโรคประจำถิ่นได้ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 โดยกำหนดเป้าหมายสำคัญไว้ 3 ข้อคือ

1. การเข้าถึงการดูแลรักษาได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ อัตราการป่วยตายไม่เกิน 0.1%

2. ความครอบคลุมวัคซีนเข็มกระตุ้น มากกว่าหรือเท่ากับ 60%

3. สร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องและความร่วมมือของประชาชน ในการรับมือ และปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด 19 จาก Pandemic สู่ Endemic อย่างปลอดภัย

นับจากนี้ไปยังเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนเศษที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ลองมาติดตามดูว่าตอนนี้เราเดินไปถึงจุดไหนแล้ว

เป้าหมายโควิดเป็นโรคประจำถิ่น

เป้าหมายแรก อัตราการป่วยตายไม่เกิน 0.1%

เป้าหมายนี้มาจากโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอัตราการป่วยตายประมาณ 0.1-0.2% (ข้อมูลจาก CDC และ WHO) ซึ่งหากโควิดมีความรุนแรงระดับนี้ ก็แสดงว่าน่าจะสามารถดูแลรักษาโควิดได้ด้วยวิธีเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษในการควบคุมสถานการณ์อีกต่อไป

โควิดป่วยตาย

รูปที่ 1 แสดงอัตราการป่วยตายของโควิดในประเทศไทย (เฉลี่ย 7 วัน)

จะเห็นว่าในระยะรอยต่อของการเปลี่ยนถ่ายจากเดลตามาเป็นโอไมครอน อัตราการป่วยตายจากโควิดลดจากราว 1% ลงมาจนแตะเส้น 0.1% แสดงว่าความรุนแรงของโอไมครอน ต่ำกว่าเดลตาอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้อโอไมครอนอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นพอสมควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ฉีดไม่ครบ 2 เข็ม หรือไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น ทำให้อัตราการป่วยตายในระยะหลัง สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 0.39% นับว่ายังสูงเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 0.1% เกือบ 4 เท่าตัว

ในขณะนี้แม้ว่าภาพรวมสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศไทย จะเลยจุดสูงสุดไปแล้ว รวมทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตและอัตราการป่วยตายเริ่มมีแนวโน้มทรงตัว (https://www.facebook.com/khuanchai.supparatpinyo/posts/5359892100701760)

แต่คาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง กว่าที่อัตราการป่วยตาย จะค่อย ๆ ลดลงจนต่ำกว่า 0.1% ตามเป้าหมาย

เป้าหมายที่ 2 ความครอบคลุมวัคซีนเข็มกระตุ้น 60%

เป้าหมายนี้มาจากผลการศึกษาประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนในประเทศไทย ที่พบว่าการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มและการฉีดเข็มกระตุ้นสามารถลดอัตราการตายของผู้สูงอายุได้ 5 เท่าและ 31 เท่าตามลำดับ (https://www.facebook.com/khuanchai.supparatpinyo/posts/5307965659227738)

โควิดวัคซีน

รูปที่ 2 แสดงอัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของประชากรไทยจนถึง 25 เมษายน 2565

จะเห็นว่าคนไทยฉีดเข็มกระตุ้นไปได้ประมาณ 25.5 ล้านคน หรือ 36% ของประชากรเท่านั้น หากต้องการฉีดให้ได้ถึง 60% ของประชากรคือ 41.7 ล้านคนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะต้องระดมฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 16.2 ล้านคนภายใน 2 เดือนนี้

ในปัจจุบันมีผู้มาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเฉลี่ยประมาณวันละไม่ถึง 7 หมื่นคน ดังนั้น ถ้าอัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังเป็นเท่านี้ อาจต้องใช้เวลาประมาณ 8 เดือนจึงจะสามารถฉีดได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ดูเหมือนว่าเป้าหมายสำคัญที่สุด 2 ข้อแรกที่จะนำโควิดไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นจะยังไปไม่ถึงไหน

แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายทั้ง 2 ข้อมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเป็นอย่างยิ่ง โดยหากสามารถระดมทั้งความคิดและสรรพกำลังเร่งฉีดวัคซีนทั้งเข็มแรก เข็มสอง และเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนได้มากและเร็วที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เชื่อว่าจะสามารถลดอัตราการป่วยตายจากโควิดในประเทศลงได้อย่างรวดเร็ว

หมายเหตุ สาเหตุที่ไม่ได้พูดถึงเป้าหมายที่ 3 เนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะประเมินผลสัมฤทธิ์อย่างไร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo