COVID-19

‘เด็กติดเชื้อโควิด’ 6,000 คน ใน 1 สัปดาห์ เผยรับเชื้อจากผู้ปกครอง

‘เด็กติดเชื้อโควิด’ 6,000 คน ใน 1 สัปดาห์ เผยรับเชื้อจากผู้ปกครอง แนะวิธีดูแลเน้นเช็ดตัว มากกว่ากินยา

วันนี้ (23 ก.พ.) นพ. เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดี กรมอนามัย กล่าวว่า  สถานการณ์ติดเชื้อในเด็กประถมวัย 0-5 ปี ตั้งแต่ 1 เมษายน  64  –  17 ก.พ. 65 รวม  107,059 คน  เสียชีวิต 29  คน เฉลี่ยกลุ่มอายุ  ใน 5 ช่วงวัย 0-1 ปี ,2 ปี ,3 ปี, 4 ปี และ 5 ปี ประมาณปีละ 20,000 คน

เด็กติดเชื้อโควิด

เด็กติดเชื้อโควิดพุ่ง ใน 6 จังหวัด

และในรอบ 7 วันที่ผ่านมา พบการติดเชื้อในเด็กสูงถึง 6,000 คน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กทม. ภูเก็ต ชลบุรี นนทบุรี นครศรีธรรมราช และสมุทรปราการ

ทั้งเป็นการรับเชื้อมาจากผู้ปกครอง  และ จากการประเมินโดยอนามัยอีเว้นท์ โพลล์ เรื่องความกังวล และพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิดภายในบ้านพบว่า  77% ไม่มีการประเมินตนเองในครอบครัว  ทั้งการประเมินแบบทดสอบ thai save thai (TST) หรือ การตรวจหาเชื้อด้วย ATK

มีเพียง 28% ที่มีการประเมินตนเอง รวมถึงบางครอบครัวยังละเลยการป้องกันตนเองมีการใช้สิ่งของ ภาชนะ หรือ อาหารร่วมกัน  ไม่มีการแยกห้องน้ำ ซึ่งในส่วนของห้องน้ำเข้าใจว่าทำได้ยาก

เด็กติดเชื้อโควิด

นพ.เอกชัย กล่าวว่า การเฝ้าระวังการติดเชื้อในเด็กควรระวังในกลุ่มที่มีอายุกว่า 1 ปี โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำ ทั้งหัวใจ ปอด และ ภูมิคุ้มกันต่ำ  ส่วนการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ก็พบว่า ตั้งแต่ช่วงการระบาดระลอก 3 เม.ย. 64 – ก.พ. 65 พบมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 6,829 คน  และเสียชีวิต 110 คน บางคนเป็นการเสียชีวิตทั้งกลม และมีบางส่วนที่ลูกรอด โดยพบว่ามีเด็กเสียชีวิต 66 คน

ทั้งนี้พบว่า แม่ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนไม่ครบ มีบางส่วนได้รับวัคซีน  2 เข็มแล้วแต่ก็ยังเสียชีวิต เนื่องจากมีโรคประจำตัว

ทั้งนี้ คาดว่า ขณะนี้มีหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 115,000  คน แต่ยังมีหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ ครรภ์ มากกว่า 12 สัปดาห์ ยังไม่ได้รับวัคซีนอีก 200,000 คน ย้ำการรับวัคซีนช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ลดความรุนแรงของโรค และ หากหญิงเตรียมมีบุตรแนะให้รับวัคซีนให้ครบก่อนตั้งครรภ์

เด็กติดเชื้อโควิด

แนะวิธีดูแลเด็กป่วย เน้นเช็ดตัวมากกว่ากินยา

นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย กล่าวถึงแนวทางการดูแลเด็กติดเชื้อโควิดว่า ส่วนใหญ่ของเด็กติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง  ดังนั้นต้องเน้นการเช็คตัว แบบทั้งตัวให้ มากกว่ารับประทานยา

อาการที่พบในเด็กคือ มีไข้สูง 1-2 วันแรก และ อาจมีอาการไข้ ไอเจ็บคอ อ่อนเพลีย เหมือนหวัด แต่ เด็กโตหน่อยบางคนมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น เบื่ออาหาร  แต่คนที่มีอาการรุนแรงต้องรีบไปพบแพทย์ ได้แก่ มีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส หายใจแรง จมูกบาน ชายโครงบุ๋ม ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า  94%  เบื่ออาหารไม่ดูดนม

ในเด็กเล็กต่ำกว่าปี หากดูดนมน้อยกว่าปกติ ให้รีบพบแพทย์ เช่นเดียวกันในเด็กโตขึ้นมา ให้สังเกตการเล่น หากเล่นน้อยลงก็ให้รีบพบแพทย์

นพ.ธีรชัย ย้ำว่า ในครอบครัวควรมีการสวมหน้ากากอนามัย และควรเว้นระยะห่างกัน 6 ฟุต การใส่หน้ากากในเด็กควรเริ่มฝึกสอนตั้งแต่อายุ 2 ปี และยืนยันเด็กสามารถตรวจ ATK ได้ แนะนำให้ตรวจทางจมูก แหย่ลึกแค่ 2 ซม.

อ่านขาวเพิ่มเติม

 

Avatar photo