COVID-19

ยอดติดโควิดยังพุ่ง! ‘หมออุดม’ คาดสิ้นเดือนนี้แตะ 1.7-1.8 หมื่นราย เตรียมใจสู่โรคประจำถิ่น!

ยอดติดโควิดยังพุ่ง! ‘หมออุดม’ คาดสิ้นเดือนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่ง 17,000-18,000 ราย วอนช่วยกันอย่าให้ทะลุ 2 หมื่น เตรียมใจสู่โรคประจำถิ่น!

ศ.นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องว่า ยังอยู่ในความคาดการณ์ของ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เคยจัดทำเป็นกราฟ สีเขียว สีส้ม สีดำ ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ระหว่างกำลังจะขึ้นไปแตะตรงกลางของสีส้มแล้ว ขณะนี้ติดเชื้อประมาณ 15,000 ราย คาดว่าปลายเดือนนี้น่าจะขึ้นไปถึง 17,000-18,000 ราย และหวังว่าจะไม่ถึง 20,000 ราย

ยอดติดโควิด

ตอนนี้ก็เริ่มล้าแล้ว!

ทั้งนี้ ต้องบอกกันตรง ๆ ว่าทุกคนอึดอัดมา 2 ปี ก็อยากผ่อนคลายและต้องการให้เรื่องเศรษฐกิจเดินไปได้ จึงคิดว่ามีปัจจัยที่จะเอื้อ และดูแล้วก็พอไหว เพราะดูจากตัวเลขผู้เจ็บป่วยรุนแรงน้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ที่มีคนที่เป็นปอดอักเสบในช่วงนั้นประมาณ 5,000-6,000 คน แต่ตอนนี้เหลือ 500 คน คือลดลงไป 10 เท่า ส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายในช่วงเวลานั้นก็ประมาณ 500-600 คน ตอนนี้เหลือประมาณ 110 คน ลดลงมาประมาณ 10 เท่า

ผมคิดว่าเป็นข้อดีที่ไม่รุนแรง และอย่างน้อยเราสู้ไหวถึงแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งขอยกประโยชน์ให้ 2 ประการ คือ คนไทยมีวินัยเยอะมาก ขอชื่นชม และขอให้ช่วยกันระมัดระวังเพิ่มขึ้น เพราะไม่ต้องการให้ตัวเลขทะลุไปถึง 20,000 รายเพราะถ้าถึง 20,000 รายเมื่อไหร่ บุคลากรทางการแพทย์จะเหนื่อยมาก ตอนนี้ก็เริ่มล้าแล้ว

ยอดติดโควิด

ยันเข็ม 3 ช่วยป้องกันได้ และช่วยลดยอดติดโควิด

ศ.นพ.อุดม กล่าวว่า เรื่องที่สองที่อยากจะย้ำคือ เรื่องความสำคัญของวัคซีน ซึ่งทั่วโลกมีข้อมูลเหมือนกันว่าขณะนี้ให้เร่งฉีดเข็ม 3 เพราะวัคซีนตอนนี้เหลืออยู่แต่คนไปฉีดน้อย ซึ่งเข็ม 3 ช่วยป้องกันได้ จากเจ็บป่วยรุนแรง ซึ่งทุกยี่ห้อกันได้ 90% เหมือนกันหมด จึงขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ไปฉีดวัคซีน

“ตอนนี้ความเป็นห่วง คือ ไม่อยากให้ตัวเลขเยอะเกินไป เพราะถ้าตัวเลขเยอะมากสัดส่วนของผู้ป่วยหนักที่ตอนนี้น้อยกว่าเดิม 10 เท่า มันก็จะสูงขึ้นเป็นไปตามอัตราส่วน ซึ่งขณะนี้เราสู้ไหว สบาย ๆ กำลังด้านสาธารณสุขเราเพียงพอมีกำลัง ระบบทุกอย่างเซ็ตไว้ดีหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น HI หรือ CI หรือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลตอนนี้เตียงเราเพียงพอ เรามีระบบพร้อมเรามีบทเรียน ฉะนั้นตรงนี้ไม่ต้องกังวล” ศ.นพ.อุดม กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราผ่อนปรนมาตรการมากขึ้น ไม่มีการเพิ่มมาตรการใด ๆ ผมเองยังกลัวว่าประชาชนจะไม่เข้าใจว่ายอดติดโควิดมีตัวเลขเพิ่มขึ้นแต่ทำไมรัฐบาลมาผ่อน แต่อย่างน้อยมาตรการยังอยู่เท่าเดิม จึงอยากให้ประชาชนมีความเข้าใจตรงนี้ เพราะไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็ไม่ไหว และต้องยอมรับว่าเราใช้งบประมาณไปเยอะมาก รัฐบาลทุ่มเงินให้ฟรีหมด ไม่มีประเทศไหนให้ฟรีมากเท่าประเทศเรา ผมคิดว่าตอนนี้เราต้องมาช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินไปได้

ยอดติดโควิด

เตรียมใจสู่โรคประจำถิ่น

เราต้องเตรียมใจเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดทั่วโลก ให้เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้ ขณะเดียวกันยังต้องดูข้อมูลไปเรื่อย ๆ ขอความร่วมมือช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ เราจะไม่ทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้า จะใช้เวลาเตรียมตัว ผมยังบอกกับสาธารณสุขว่าอีก 1-2 เดือน เราอาจจะต้องประกาศเช่นเดียวกับประเทศสวีเดนเหมือนกัน ที่เขาได้ประกาศว่าตอนนี้จะยกเลิกการให้งบประมาณอุดหนุนทุกอย่าง โดยเหตุผลหลัก คือไม่มีเงิน แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องเตรียมประชาชนให้ดี เพราะปัจจัยสำคัญอยู่ที่ประชาชน ปัจจัยไม่ได้อยู่กับด้านสาธารณสุขแล้ว เพราะสาธารณสุขเราเพียงพอไม่มีปัญหา ดังนั้นต้องปรับไปตามบริบทโลก

ศ.นพ.อุดม กล่าวว่า ขอฝากเรื่องวัคซีนเด็ก ซึ่งขณะนี้ฉีดได้จำนวนน้อยมาก และผู้ปกครองมีความกังวลมากเหลือเกิน ซึ่งทาง สธ. ได้ประกาศไปแล้วว่าขอให้มาฉีดไฟเซอร์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่ยังฉีดได้น้อย คงเพราะผู้ปกครองมีความกังวลว่าจะเป็นผลอย่างไรบ้าง เนื่องจากเป็นเชื้อ mRNA ซึ่งขณะนี้เรามีทางเลือกเพิ่มขึ้น คือ วัคซีนเชื้อตาย ได้แก่ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม อย่างน้อยเราก็รู้ว่าผลข้างเคียงมีน้อยมากถึงแม้ว่าประสิทธิภาพอาจจะสู้ไม่ได้ แต่เมื่อไปถึงเข็ม 2 เข็ม 3 แล้วก็จะมาสู้ได้ โดยตอนนี้กำลังจะปรับเป็นสูตรไขว้ โดยกระทรวงสาธารุณสุขได้ประกาศแล้วว่าฉีดในเด็ก 12 ปีขึ้นไปก่อน แต่เด็กอายุต่ำกว่านั้นยังไม่ไขว้และในอนาคตก็คงต้องไขว้ เพราะต้องการให้ภูมิขึ้นเร็ว โดยเริ่มเข็ม 1 ซิโนแวค เข็ม 2 ไฟเซอร์ ภูมิจะขึ้นเร็วไม่ต้องรอนาน

ส่วนที่ขณะนี้ผู้ปกครองกังวลเรื่องไฟเซอร์วัคซีนหลักในเด็กถึงเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น ขอยืนยันตามที่มีข้อมูลล่าสุดที่เก็บมาจากทั่วโลกคือเกิดขึ้นจริงแต่เกิดน้อย กลุ่มที่เกิดเยอะที่สุด คือ เด็กโต 16-18 ปี ในเด็กผู้ชายมากกว่าในเด็กผู้หญิง เกิดประมาณ 70 ต่อ 1 ล้าน เด็กผู้หญิง 16-18 ปี เกิดประมาณ 7 ต่อ 1 ล้าน พออายุต่ำลงมาประมาณอายุ 15-17 ปี เกิดประมาณ 4-5 ต่อ 1 ล้าน ขอให้ไปช่วยกันฉีด เพราะขณะนี้มักจะระบาดในเด็กเพราะในเด็กจะกระจายไปในหลายอวัยวะมากกว่าผู้ที่กระจายไปที่ปอดอย่างเดียว ดังนั้นขอให้ไปฉีดเพราะผลดีจะมากกว่าผลเสียแน่นอน ขออย่ากังวล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo