COVID-19

ข่าวร้าย!! ภูมิต้านทานหลังติดเชื้อโอไมครอน ไม่พอป้องกันการติดเชื้อซ้ำ

“ดร.อนันต์” เผยผลวิจัยสหรัฐ พบภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อโอไมครอน ไม่มากพอที่จะป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ทั้งโอไมครอน เดลตา ต้องใช้ภูมิจากวัคซีนช่วย

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และนักไวรัสวิทยา โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เปิดเผยผลงานวิจัยจากทีมวิจัยสหรัฐ พบระดับภูมิคุ้มกันหลังผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอน ไม่มากพอ มีโอกาสติดเชื้อซ้ำ โดยระบุว่า

ติดเชื้อโอไมครอน

ข้อมูลชิ้นหนึ่งเผยแพร่มาจากทีมวิจัยของ University of California จาก San Francisco และ Berkeley น่าสนใจมากครับ

ทีมวิจัยได้ศึกษาระดับภูมิคุ้มกันหลังผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเดลตา หรือ โอไมครอน โดยเปรียบเทียบระดับแอนติบอดียับยั้งไวรัสดังกล่าวกับไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม เดลตา และ โอไมครอน

ทีมวิจัยพบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่หายจากการติดเดลตามา มีระดับแอนติบอดีที่ยับยั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม และ เดลตา ได้ไม่ต่างกัน และ อยู่ในระดับที่ 1871 ที่ถือว่าสูงมาก

แต่ภูมิดังกล่าวเมื่อทดสอบกับไวรัสโอไมครอนพบว่าตกลงมาอยู่เพียง 40 หรือ มากถึง 46.8 เท่า แสดงว่าเป็นไปได้สูงว่าภูมิจากการติดเชื้อเดลตามา ไม่เพียงพอต่อการป้องกันโอไมครอน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลคนที่ติดโอไมครอนซ้ำในกลุ่มที่เคยป่วยจากเดลตามาแล้ว

111 2

ข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ที่กลุ่มที่ติดและหายป่วยจากโอไมครอนมา พบว่าภูมิที่วัดได้ต่อสายพันธุ์ดั้งเดิม และ เดลตาน้อยกว่ากลุ่มที่ติดเดลตามาพอสมควร คือ อยู่ที่ 624 และ 284 ตามลำดับ

พูดง่าย ๆ คือ ภูมิจากโอไมครอนที่จะข้ามมาป้องกันเดลตามีน้อยกว่าการป้องกันสายพันธุ์ดั้งเดิมประมาณ 2.2 เท่า

แต่ที่น่าแปลกใจมากคือ ภูมิจากการติดเชื้อไวรัสโอไมครอนเอง ก็ดูเหมือนจะยับยั้งโอไมครอนได้น้อยเช่นเดียวกัน จากรายงานนี้ได้ภูมิต่อโอไมครอนเพียงแค่ 94 ซึ่งน้อยกว่าภูมิต่อสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 6.6 เท่า

ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าภูมิจากผู้ป่วยที่ติด และหายป่วยจากโอไมครอนมา อาจมีไม่มากพอที่จะป้องกันการติดโอไมครอนซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอไมครอนที่ห่างจากโอไมครอนปกติอย่าง BA.2 ได้อีก

สาเหตุหนึ่งที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์นี้ อาจเป็นเพราะการติดเชื้อโอไมครอนที่อาการน้อย ไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับกรณีการติดเดลตา

ทีมวิจัยได้เปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่อาการน้อยหรือไม่มีอาการ กับกลุ่มที่มีอาการชัดและหนัก และ พบความแตกต่างอย่างชัดเจน

222 1

กลุ่มที่ติดเดลตามามีค่าระดับภูมิเฉลี่ยสูงถึง 14,853 เทียบกับกลุ่มที่ติดโอไมครอนได้ภูมิอยู่ที่ 1,524 ซึ่งต่างกันเกือบ 10 เท่า ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขของกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงที่ได้ค่าสูงถึง 20,481 เทียบกับกลุ่มที่อาการน้อยหรือไม่มีอาการที่ 3,407

ข้อมูลของการศึกษานี้บอกว่า ภูมิจากการติดเชื้อจากธรรมชาติเองไม่เหมือนกันครับ คนที่ติดไวรัสมาแล้วอาการน้อยหรือไม่มีอาการ มีโอกาสที่มีภูมิคุ้มกันในตัวเองที่ไม่สูงมาก และ อาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะเมื่อเวลายาวนานออกไป หรือ สายพันธุ์นั้นเริ่มปรับตัวเปลี่ยนมากขึ้น

ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเอาภูมิจากวัคซีนมาช่วยครับ

ที่มา: https://www.medrxiv.org/con…/10.1101/2022.01.25.22269794v1

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo