“ดร.อนันต์” เผยข้อมูลแสดงภูมิคุ้มกัน หลังฉีดไฟเซอร์กระตุ้น ผลวิจัยชี้หากฉีดกระตุ้นช่วงร่างกายมีภูมิคุ้มกันไม่สูง จะช่วยกระตุ้นภูมิพุ่งสูงขึ้น สู้โอไมครอนได้
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และนักไวรัสวิทยา โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เปิดข้อมูลการฉีดไฟเซอร์ เข็มกระตุ้น ได้ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูง ช่วงร่างกายมีภูมิฯไม่สูง โดยระบุว่า
ข้อมูลชุดนี้น่าจะเป็นข้อมูลชุดแรกครับที่แสดงถึงภูมิคุ้มกันหลังเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer ที่ยาวนานไปถึง 4 เดือนว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อโอไมครอนได้มากแค่ไหน
ผลการศึกษาจากข้อมูลชุดนี้จากทีม University of Texas Medical Branch ระบุว่า ภูมิจากวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อไวรัสโอไมครอน ลดลงจากค่าเฉลี่ยจุดสูงสุดที่ 1 เดือนหลังกระตุ้นที่ 336 ลงไปที่ 171 ที่ 4 เดือน คิดเป็นการลดลงประมาณ 2 เท่า แต่ระดับที่ 171 ของค่าแอนติบอดี
ถือว่าอยู่ในระดับสูงเพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อได้ ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีครับ
แต่การที่ได้ภูมิระดับนี้ได้ จำเป็นต้องมีข้อกำหนดสำคัญคือ ช่วงเวลาที่ได้รับเข็มกระตุ้น ควรเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายไม่มีภูมิที่สูง
จากการศึกษานี้อาสาสมัครได้รับเข็มที่ 3 หลังจากได้เข็ม 2 มานานถึง 8-9 เดือน โดยภูมิก่อนได้รับเข็มกระตุ้นมีน้อยมาก คือ 65 ต่อสายพันธุ์ดั้งเดิม และ 13 ต่อโอไมครอน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมากที่ร่างกายจะได้รับการกระตุ้นเข็ม 3
จะเห็นว่า หลังได้เข็มกระตุ้น ภูมิพุ่งสูงขึ้น เป็น 1342 (20.6 เท่า) ต่อสายพันธุ์ดั้งเดิม และ 336 (25.8 เท่า) ต่อสายพันธุ์โอไมครอน เชื่อว่าถ้าการกระตุ้นในช่วงที่ภูมิไม่ต่ำ ค่าแอนติบอดีที่กระตุ้นขึ้นมาได้อาจจะไม่สูงเท่า และ อยู่ไม่นานถึง 4 เดือนครับ
ความยากของการตัดสินใจอยู่ตรงที่ถ้าไม่รีบกระตุ้น ภูมิจาก 2 เข็มก็เอาโอไมครอนไม่อยู่ แต่ถ้ารีบกระตุ้นเร็วเกินไป ภูมิจากเข็ม 3 ก็จะขึ้นได้ไม่เต็มศักยภาพและตกไว
สูตร Sv-Sv-PZ ที่ได้ภูมิที่สูงขึ้นมาได้ ก็อาจจะเป็นเพราะว่าช่วงที่ได้เข็มกระตุ้น PZ ร่างกายมีภูมิที่ไม่สูงมากที่จะรบกวนวัคซีนเข็ม 3 ครับ จึงทำให้เข็ม PZ ทำงานได้เต็มที่
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ดร.อนันต์’ เปิดข้อมูลระดับภูมิคุ้มกันจากวัคซีน แบบไหนยับยั้งโอไมครอนได้
- ตะลึง!! ‘ดร.อนันต์’ พบโอไมครอนมีความหลากหลายในตัวเอง สองคนต่างอาการ
- โชคดีจริงๆ!! ‘ดร.อนันต์’ ย้ำชัด ไวรัส ASFV ไม่ติดคน ไม่ก่อให้เกิดโรคในคน