COVID-19

‘หมอประสิทธิ์’ คาด ‘โอไมครอน’ เข้าสู่ช่วงปลายของการระบาดแล้ว!

“หมอประสิทธิ์” สรุปสถานการณ์ “โอไมครอน” แพร่ระบาดเร็วมาก แต่อาการความรุนแรงน้อย ชี้มีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ช่วงปลายของการแพร่ระบาด เตือนการหวังให้เกิดภูมิคุ้มกันโดยการติดเชื้อ เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดเผยถึงสถานการณ์โควิดสายพันธุ์ “โอไมครอน” จากทั่วโลกว่า ขณะนี้ “โอไมครอน” ไปรุนแรงอยู่ที่ทวีปยุโรปและในอเมริกา ส่วนที่แอฟริกาได้ผ่านจุดการแพร่ระบาดสูงสุดมาแล้ว กำลังอยู่ในช่วงขาลง และก็ไม่ได้พบมีคนไข้หนักมากนัก

หมอประสิทธิ์

สถิติการฉีดวัคซีนทั่วโลก

ขณะที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศพบโอไมครอนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2564 ทำให้มีอัตราการติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 2-3 ล้านคน/วัน สูงกว่าทุกสายพันธุ์ที่ผ่านมา ที่พบเพียงวันละประมาณ 1 แสนคน ส่วนอัตราการเสียชีวิตในช่วงที่เดลตาเป็นสายพันธุ์หลัก ตัวเลขอยู่ระหว่าง 5,000-9,000 คน/วัน พอมาในช่วงที่โอไมครอนเข้ามาเป็นสายพันธุ์หลัก ตัวเลขการเสียชีวิตก็ใกล้ ๆ เดิมอยู่ระหว่าง 4,000-9,000 คน/วัน ขณะที่ตัวเลขการฉีดวัคซีนทั่วโลก ตอนนี้ฉีดไปแล้วกว่า 9,900 ล้านโดส

หมอประสิทธิ์

สถานการณ์โควิดทั่วโลก

ทั้งนี้ สถานการณ์โควิดในหลายประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา เช่น ที่สหรัฐหลังโอไมครอนเข้าไประบาด ทำให้มีตัวเลขติดเชื้อสูง บางวันสูงถึง 1.5 ล้านคน ตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 2,000-3,000 คน มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 530 ล้านโดส จากจำนวนประชากรที่มีอยู่กว่า 334 ล้านคน ขณะที่ “แคนาดา” เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 75 ล้านโดส จากประชากรที่มีอยู่กว่า 38 ล้านคน ทำให้ตัวเลขการเสียชีวิตกว่า 100 คนต่อวัน มาอย่างต่อเนื่อง ส่วน “สหราชอาณาจักร” มีอัตราการติดเชื้ออยู่ระหว่าง 80,000-1,000,000 คนต่อวัน เสียชีวิต 200-300 คนทุกวัน ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงขาลง หลังมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 137 ล้านโดส จากประชากรที่มีกว่า 68 ล้านคน

หมอประสิทธิ์

สถานการณ์โควิดในประเทศ

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยนั้น หลังโอไมครอนระบาด ก็พบมีอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ระหว่าง 7,000-8,000 คน/วัน เสียชีวิตอยู่ในหลักกว่า 10 คน ไม่เกิน 20 คน มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 111 ล้านโดส จากประชากรที่มีอยู่กว่า 70 ล้านคน คิดเป็น 74.4% ของประชากรที่ได้รับ 1 โดส 68.5% ได้ 2 โดส และ 15.8% ที่ได้รับการฉีดกระตุ้น

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้ว่าโอไมครอนแพร่ได้เร็วกว่าเดลตา โดยไม่ได้สัมพันธ์กับปริมาณไวรัสในผู้ติดเชื้อ ความจำเป็นต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธ์เดลตา ประมาณเพียง 1/3 ถึง 1/2 และมีอาการรุนแรงน้อยกว่า ความสามารถหลบจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทั้งภูมิที่เกิดจากการหายจากการติดเชื้อ หรือที่เกิดจากการฉีดวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์เดลตา เป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งที่โอไมครอนระบาดได้เร็ว

หมอประสิทธิ์

“จากข้อมูลจริงที่เกิดขึ้น สามารถสรุปได้ว่าผลจากการแพร่ระบาดที่เร็วมากของโอไมครอน แต่ก่อให้เกิดอาการความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า ทำให้มีโอกาสสูงที่เข้าสู่ช่วงปลายของการแพร่ระบาดของโควิด จากผลรวมของประชากรโลกที่มีภูมิคุ้มกัน ทั้งจากการฉีดวัคซีนและจากการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง ทั้งนี้มองว่า การหวังให้เกิดภูมิคุ้มกันโดยการติดเชื้อ เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เพราะอาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต ทั้งตัวผู้ติดเชื้อและผู้ได้รับการแพร่เชื้อ” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์

สำหรับคำแนะนำในช่วงเวลานี้ ควรป้องกันตัวเองจากการรับเชื้อและแพร่เชื้อ ซึ่งสามารถกระทำได้ แม้จะมีการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น โดยการใส่หน้ากาก รักษาระยะห่างกัน 1-2 เมตร การพูดคุยไม่นานจนเกินไป (โดยใส่หน้ากาก) ดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดขึ้น ทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ เพื่อให้สามารถประเมินประสิทธิภาพของมาตรการเหล่านั้น ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 (Az หรือ mRNA) หากฉีดเข็มที่ 2 แล้ว 3 เดือน หรือมากกว่า ช่วยกันแนะนำหรือตักเตือนผู้ที่ไม่ดำเนินการตามมาตรการที่ควร เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด เนื่องจากโอไมครอนแพร่ระบาดได้เร็ว และติดตามข่าวสารความก้าวหน้าต่าง ๆ เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo