COVID-19

‘หมอประสิทธิ์’ เผยความจริงโอไมครอน 5 ประการ คาด 3 วันไทยทะลุหมื่น

“หมอประสิทธิ์” เรียนรู้ความจริงโอไมครอน 5 อย่าง กระจายเร็ว อาการไม่รุนแรง โอกาสลงปอดน้อย ต้องฉีดเข็มกระตุ้น คาด 3 วันผู้ติดเชื้อโอไมครอนในไทยแตะหลักหมื่น

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโอไมครอนว่า ขณะนี้ทั่วโลกพบเชื้อโอไมครอนมากว่า 5 สัปดาห์แล้ว เชื่อว่าหลายประเทศรับรู้ธรรมชาติของโรคแล้วว่าอาการไม่รุนแรง โจมตีในระบบทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าปอด

ความจริงโอไมครอน

ดังนั้น หลายประเทศก็ใช้วิธีการรักษาที่บ้านมากกว่าในโรงพยาบาล (รพ.) ยกเว้น กรณีอาการรุนแรงจริง ๆ ต้องเข้า รพ.เท่านั้น ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับประเทศไทย

เรียนรู้ความจริงโอไมครอน 5 ประการ

1. กระจายเชื้อเร็ว อย่างน้อย 3 เท่าของเชื้อเดลตา

2. ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อายุไม่มาก อาการไม่รุนแรง หรือไม่มีอาการ เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทั่วโลกรับวัคซีนมากแล้ว โอกาสติดเชื้อแล้วเข้า รพ. น้อยกว่าเมื่อเทียบกับเดลตา

3. เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน โอกาสลงปอดน้อยกว่าเชื้อเดลตาทำให้ความรุนแรงน้อยลง แต่แพร่เชื้อได้ดี เพราะติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ที่เกิดอาการไอ จาม ซึ่งแพร่เชื้อได้มากขึ้น

4. วัคซีนที่ฉีดทุกชนิดเพียง 2 เข็ม ไม่พอในการป้องกันเชื้อโอไมครอน ต้องเร่งฉีดเข็มกระตุ้น

5. มีรายงานว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาในตระกูลยาต้านไวรัสพิราเวียร์ ยังรักษาได้ผลดี

LINE ALBUM covid Omicron ๒๑๑๒๒๙

สำหรับประเด็นที่น่ากังกลมากที่สุดในขณะนี้คือ การแพร่ระบาดเร็ว และต้องระวังการกลายพันธุ์ที่อาจทำให้โรครุนแรงขึ้น รวมทั้งเมื่อมีผู้ติดเชื้อมาก ก็จะพบสัดส่วนผู้อาการรุนแรงมากขึ้น และต้องเข้ารักษาใน รพ. ก็จะเริ่มกลับมากระทบระบบสาธารณสุขได้

อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้สังคมตื่นตระหนก แต่ก็ไม่อยากให้ผ่อนคลายมากเกินไป เชื่อว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์นี้ ไทยจะพบการติดเชื้อใหม่ทะลุหมื่นรายแน่นอน และภายในปลายเดือนนี้ จะเห็นตัวเลขวันละ 2-3 หมื่นราย

ทั้งนี้ มีตัวอย่างจาก สหราชอาณาจักร ที่พบว่า ประชากรได้รับวัคซีนเข็มแรก 90% 2 เข็ม 83% และได้รับ 3 เข็มอีก 60% แต่ยังติดเชื้อวันละกว่า 2 แสนราย ขณะที่ แอฟริกาใต้ ฉีดวัคซีนน้อยแต่เริ่มคุมสถานการณ์ดีขึ้น ผู้ติดเชื้อลดลง

ดังนั้น สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ วัคซีนมีประโยชน์ แต่ต้องคู่กับมาตรการสังคม การป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ เพราะสถานการณ์ขณะนี้ยังวางใจไม่ได้

ในกรณีตรวจ ATK แล้วให้ผลบวก ก่อนจะรักษาเองที่บ้าน ต้องรายงานข้อมูลเข้าระบบของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งสายด่วน 1330 หรือช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้มีระบบส่งต่อ หากอาการรุนแรงขึ้นภายหลัง โดยเฉพาะผู้ยังไม่รับวัคซีนหรือยังรับไม่ครบ ก็มีความเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อแล้วอาการของโรคจะรุนแรง หากเป็นเดลตา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo