COVID-19

‘หมอนิธิพัฒน์’ เตือนยกการ์ดสูงสุด เดินทางเข้าไทย สกัดโอไมครอน ห่วงขยายนั่งดื่ม

“หมอนิธิพัฒน์” เตือนภัยโอไมครอน ต้องเข้มข้นคัดกรองนักเดินทาง ป้องกันหลุดรอดเข้าไทย ห่วงขยายเวลานั่งดื่มในร้านอาหาร ทำโควิดระบาด พร้อมชี้ผู้ป่วยปอดอักเสบโควิดเกิดวัณโรคปอดร่วมหรือตามมาได้ง่ายขึ้น

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล แนะคุมเข้มเดินทางเข้าไทย สกัดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน พร้อมเตือนร้านอาหาร เน้นมาตรการป้องกันหลังขยายเวลานั่งดื่มแอลกอฮอล์ โดยระบุว่า

หมอนิธิพัฒน์

ขอบคุณเจ้าโอไมครอนที่ช่วยคลายกังวล ต่อแผนการนำ ATK มาใช้แทน RT-PCR สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระบบ Test and Go ซึ่งได้ถูกประกาศเลื่อนไปก่อน

อย่าปล่อยให้ปัจจัยภายนอก มารบกวนสถานการณ์โควิดในประเทศที่กำลังค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ  เราเริ่มเห็นผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยกว่า 5,000 คนมาสองวัน และผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 50 คนมาสี่วัน

ขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตาสายพันธุ์ที่น่ากังวลลำดับที่ 5 นี้กันอยู่ ว่าจะติดต่อง่ายและทำให้เกิดโรครุนแรงเทียบเท่าเจ้าเดลตาหรือไม่

หน่วยงานบ้านเราที่เกี่ยวข้อง คงต้องเร่งสปีดการค้นหาการเล็ดรอดของโอไมครอน ว่าแหวกเกราะคัดกรองของประเทศเราเข้ามาหรือยัง และต้องยกการ์ดสูงสุดต่อคนที่จะเดินทางเข้าประเทศในทุกช่องทาง และในทุกกรณี

 

ถ้าจำเป็นต้องปิดตายประเทศชั่วคราวเมื่อเริ่มเห็นเค้าลางความยุ่งยากก็อย่าได้รอช้า ต้องให้ฉับไวเหมือนอิสราเอล จีน และ ญี่ปุ่นที่ล่วงหน้ากันไปแล้ว

บ้านเราตอนนี้ฮอตสปอตยังอยู่ที่ กทม. ตามมาด้วย นครศรีธรรมราช สงขลา และ สุราษฎร์ธานี

โควิด ไทย

นี่โอไมครอนก็ยังไม่รู้ว่าเข้ามาเพ่นพ่านในเมืองหลวงของเราบ้างหรือยัง แต่ก็จะมีการเริ่มผ่อนคลายให้ดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารที่ได้รับการรับรองเพิ่มเป็นห้าทุ่ม ไม่รู้จะคุ้มกันหรือเปล่า

ถ้าห้ามไม่อยู่ก็คงต้องเฝ้าระวังกันให้ดีด้วย อย่าให้มีการละเมิดกฎกติกาที่มีอย่างรัดกุมแล้ว หากเกิดการระบาดในพื้นที่ย่อยไหนตามมาจากการผ่อนคลายนี้ ต้องไล่เบี้ยให้ได้กับเจ้าของร้านว่าทำตามมาตรการจริงหรือไม่

ที่สำคัญต้องลงดาบเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบกวดขันโดยตรงด้วย ถ้าพบว่าบกพร่องในหน้าที่

ในปี 2562 โรคระบบการหายใจนับว่าคร่าชีวิตของพลเมืองโลกไปก่อนวัยอันควรเป็นอันดับ ๆ มีโรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอักเสบ และมะเร็งปอด รั้งอันดับที่ 3, 4, และ 6 ตามลำดับ โดยมีวัณโรคตามมาที่อันดับ 13

 

ความสัมพันธ์ระหว่างโรคโควิด-19 และ วัณโรค เป็นไปในสองทิศทาง ในด้านหนึ่ง ตั้งแต่การระบาดของโควิดมาเกือบสองปี ทำให้ยอดผู้ป่วยวัณโรคของทั้งโลกลดลงราว 18% แต่ของไทยเราลดลงมาแค่ 5%

บางคนคิดว่าการออกนอกบ้านน้อยลงและใส่หน้ากากมากขึ้น จะช่วยลดการเกิดวัณโรคได้ไปในตัวเหมือนกับที่ไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่ห่างหายเราไป

แต่ที่จริงแล้วเชื่อกันว่าแม้จะช่วยลดได้บ้างจริง แต่ด้านที่มีคนป่วยเป็นวัณโรคเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา การเข้ารับการตรวจรักษาช้าเพราะสถานการณ์โควิด ทำให้ตัววัณโรคลุกลามมากขึ้น ติดต่อคนใกล้ชิดมากขึ้น

หักกลบลบหนี้แล้วน่าจะมีผู้ป่วยวัณโรคมากขึ้น แต่ยังมาไม่ถึงมือหมอ ไว้รอโควิดสงบน่าจะมีผู้ป่วยวัณโรคหลั่งไหลออกมาเพิ่ม

โควิด วัณโรค

อีกด้านหนึ่ง ในการรักษาปอดอักเสบโควิดรุนแรง จำเป็นต้องได้ยากดภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์ บางรายต้องให้ไปนานโดยยืดจากปกติที่ให้ 7-10 วันเป็น 2-12 สัปดาห์

อีกทั้งโควิดเองก็ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายเรารวนไประยะหนึ่งได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยปอดอักเสบโควิดเกิดวัณโรคปอดร่วมหรือตามมาได้ง่ายขึ้น โดยการที่ทำให้เชื้อวัณโรคที่ได้รับมาก่อนหรือเพิ่งรับมาใหม่ เจริญเติบโตจนก่อโรคง่ายขึ้น

จากรายงานผู้ป่วยสองโรคนี้ที่พบร่วมกันเกือบ 800 รายจากหลายภูมิภาคทั่วโลก ส่วนใหญ่จะเป็นวัณโรคนำมาก่อน มีเพียงราว 25% ที่เกิดโควิด-19 ก่อน แล้วจึงตามมาด้วยวัณโรคภายหลัง

ในภาพรวมถ้าพบสองโรคนี้ร่วมกันจะมีอัตราตายราว 11% ซึ่งสูงกว่าอัตราตายของโรคโควิด-19 อย่างเดียวที่ 1-2% โดยผู้ที่เสียชีวิตมักจะมีอายุมากและเป็นเพศชาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo