COVID-19

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดข้อมูลอันตราย ‘โอไมครอน’ เชื้อร้ายกลายพันธุ์ไร้ขีดจำกัด

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ชี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก หวั่นใจ โอไมครอน เชื้อร้ายกลายพันธุ์ไร้ขีดจำกัด ล่าสุดพบการกลายพันธุ์ถึง 32 ครั้งในโปรตีนส่วนหนาม ลั่นต้องเร่งกระจายวัคซีน

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก ถึงการปรากฏตัวของไวรัสกลายพันธุ์ล่าสุด โอไมครอน (Omicron) หรือ B.1.1.529 ที่สร้างความกังวลให้กับเหล่านักวิทยาศาสตร์อย่างมาก เนื่องจากพบการกลายพันธุ์ถึง 32 ครั้ง ทำให้อาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเดิม และแพร่กระจายเชื้อรวดเร็วขึ้น โดยระบุว่า

โอไมครอน

โอไมครอน เชื้อร้ายกลายพันธุ์ไร้ขีดจำกัด

การปรากฏตัวของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ Omicron หรือ “B.1.1.529” สร้างความกังวลให้กับเหล่านักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเจ้าไวรัสตัวใหม่นี้มีการกลายพันธุ์ถึง 32 ครั้งในโปรตีนส่วนหนาม

ทั้งนี้ อาจส่งผลให้เชื้อสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเดิม ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น แพร่กระจายได้เร็วกว่าและเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนหรือยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น

ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ Omicron 107 รายใน 4 ประเทศ โดยพบที่ประเทศแอฟริกาใต้ 100 ราย บอสวานา 4 ราย ฮ่องกง 2 ราย และอิสราเอล 1 ราย มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ทำให้องค์การอนามัยโลกเพิ่มเชื้อ Omicron เป็นเชื้อตัวที่ 5 ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวลเทียบเท่าอัลฟา แกมมา เดลตาและเบตา เนื่องจากลักษณะการกลายพันธุ์ที่น่ากลัวแบบนี้ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะการกลายพันธุ์ในโปรตีนส่วนหนาม

โอไมครอน

ดร.ทอม พีค็อก (Tom Peacock) นักไวรัสวิทยา แห่งอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน กล่าวว่า เชื้อตัวนี้มีการกลายพันธุ์ของโปรตีนส่วนหนามมากอย่างไม่น่าเชื่อ

 

ยิ่งกว่านั้น ยังมีการกลายพันธุ์ที่เอนไซม์ที่ทำหน้าที่ตัดทะลวงเข้าเซลล์เพื่อทำให้ติดเชื้อ (Furin Cleavage Site) ถึง 2 จุด คือจุด P681H แบบที่พบในสายพันธุ์อัลฟา มิว แกมมาและ B.1.1.318 และจุด N679K เหมือน C.1.2 ไวรัสกลายพันธุ์ในแอฟริกา

นับเป็นครั้งแรกที่พบการกลายพันธุ์ 2 จุดในเชื้อตัวเดียว สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในตอนนี้ก็คือ เชื้อตัวใหม่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง หรือจะเป็นแค่คลัสเตอร์ในวงจำกัด

ศ.ระวี คุปตะ (Ravi Gupta) นักจุลชีววิทยาทางคลินิก แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พบว่า การกลายพันธุ์ที่พบในเชื้อ B.1.1.529 ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น และหลบหลีกแอนติบอดีได้ดียิ่งขึ้น

shutterstock 2081288281

สิ่งที่น่ากังวลก็คือ เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าไวรัสที่พบใหม่นี้ จะติดเชื้อได้ง่ายขนาดไหน หรือแบบเดียวกับเดลตาหรือเปล่า

ในขณะที่ศ.ฟรังซัวส์ บัลยูซ์ (Francois Balloux) ผู้อำนวยการแห่งศูนย์พันธุศาสตร์ UCL กล่าวว่า เชื้อตัวนี้อาจจะเกิดการกลายพันธุ์ซ้ำซ้อน ระหว่างการติดเชื้อเรื้อรัง ในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยเอชไอวีที่ไม่ได้รับการรักษา

ไม่ว่าเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 จะกลายพันธุ์กี่ครั้ง หรือตัวล่าสุดนี้ จะทำให้เกิดการระบาดรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ สิ่งที่ยังคงต้องดำเนินการต่อไปคือ การกระจายวัคซีน ทั้งปฐมภูมิและกระตุ้นภูมิ ให้ครอบคลุมและรวดเร็ว เพื่อให้ทุกคนมีระดับภูมิคุ้มกันในตัวที่พอดี ทั่วทั้งประเทศและทั่วทุกประเทศ

มิฉะนั้น เจ้าเชื้อไวรัสก็จะสามารถแอบไปกลายพันธุ์ ในกลุ่มประชากรที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo