COVID-19

ทำความรู้จัก ‘โอไมครอน’ โควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่ทำทั่วโลก ‘หวาดผวา’

ทำความรู้จัก โควิดสายพันธุ์ B.1.1.529 ที่ องค์การอนามัยโลก ประกาศว่า เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวลขณะนี้ และตั้งชื่อเรียกตามลำดับตัวอักษรกรีกว่า โอไมครอน (Omicron)

ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ โอไมครอน พบการระบาดครั้งแรกที่ บอตสวานา ปัจจุบัน พบผู้ติดเชื้อในบอตสวานา แอฟริกาใต้ อิสราเอล ฮ่องกง อังกฤษ และหลายประเทศในยุโรป แต่ยังไม่พบการระบาดในไทย

สายพันธุ์โอไมครอน นับเป็นเชื้อกลายพันธุ์ตัวที่ 5 ที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล ต่อจากอัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ส่วนสายพันธุ์แลมบ์ดา และมิว ที่มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ ปัจจุบันยังถือว่าเป็น สายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ (Variant of Interest) ซึ่งมีความร้ายแรงต่ำกว่า

โอไมครอน

WHO ระบุว่า เชื้อนี้มีการกลายพันธุ์ในหลายจุด และหลักฐานเบื้องต้นพบว่ามีความเสี่ยงที่จะติดซ้ำได้ โดย แอฟริกาใต้ รายงานการพบเชื้อนี้ ไปยัง องค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อนจะมีการยืนยันว่า ตรวจพบใน บอตสวานา เบลเยียม ฮ่องกง และอิสราเอล ส่งผลให้หลายประเทศประกาศห้าม หรือจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเหล่านั้น กับประเทศทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา

เจ้าหน้าที่พบการระบาดในจังหวัดเกาเต็ง (Gauteng) ของแอฟริกาใต้เป็นหลัก โดยขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ ที่ได้รับการยืนยันแล้ว 77 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อในประเทศบอตสวานาอีก 4 ราย รวมทั้งพบกรณีที่ผู้ติดเชื้อเดินทางจากแอฟริกาใต้ ไปยังฮ่องกงด้วยเที่ยวบินตรงอีก 1 ราย

ศ.ทูลิโอ เด โอลิเวรา ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการรับมือโรคระบาดของแอฟริกาใต้ บอกว่าไวรัสโควิดชนิดใหม่นี้ มีการกลายพันธุ์ของยีนรวมทั้งสิ้นถึง 50 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าผิดปกติอย่างยิ่ง และทำให้มีความแตกต่างจากเชื้อโควิดกลายพันธุ์อื่น ๆ ที่เคยพบมาเป็นอย่างมาก

กังวล โอไมครอน ระบาดเร็วกว่า เดลตา

การกลายพันธุ์แบบเหนือความคาดหมายนี้ จัดเป็นการกลายพันธุ์ของโปรตีนบนส่วนหนามของไวรัสถึง 32 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนดังกล่าวมีความสำคัญยิ่ง ในการเป็นกุญแจที่ไวรัสใช้ไขประตูเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์ ซึ่งการกลายพันธุ์ในส่วนนี้ ทำให้ทั่วโลกต้องจับตา

เนื่องจากเป็นการกลายพันธุ์ มากกว่าทุกสายพันธุ์ และมากกว่าสายพันธุ์เดลตา ที่มีการกลายพันธุ์ 16 ตำแหน่ง  ถึง 2 เท่า ทำให้เกิดข้อกังวลว่า สามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดหนักทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังพบการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ (receptor binding domain) ซึ่งไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของคนเราถึง 10 ตำแหน่งด้วย ในขณะที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่ร้ายแรงอย่างสายพันธุ์เดลตา มีการกลายพันธุ์ในส่วนนี้เพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การกลายพันธุ์อย่างรุนแรงในลักษณะนี้ น่าจะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อในผู้ป่วยเพียงรายเดียว โดยร่างกายของผู้ป่วยที่เป็นต้นตอของการกลายพันธุ์ดังกล่าว ไม่สามารถต่อสู้ต้านทานกับเชื้อโรคได้

การที่เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ มีการเปลี่ยนแปลงจนแตกต่างไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งมีต้นกำเนิดที่นครอู่ฮั่นของจีน ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า วัคซีนโควิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จะใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้ และหากมีการแพร่ระบาดลามออกไปเป็นวงกว้าง ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์โควิดในหลายประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญกับการระบาดระลอก 4 เลวร้ายยิ่งขึ้น

ส่วนการกลายพันธุ์ในอีกหลายสิบตำแหน่ง ที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยเห็นมาก่อนนั้น ยังคงต้องรอการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการอีกนานหลายสัปดาห์ จึงจะสามารถบอกได้ว่า ยีนเหล่านั้นมีผลทำให้เชื้อโควิดดังกล่าวมีฤทธิ์ร้ายแรง เหนือกว่าเชื้อกลายพันธุ์ชนิดอื่น ๆ ที่เคยพบมาก่อนหรือไม่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo