COVID-19

‘หมออนุตตร’ สรุปให้ ฉีดวัคซีน mRNA ในเด็ก กับความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ สรุปผลวิจัย CDC ชี้ฉีดวัคซีน mRNA ในเด็ก เทียบความเสี่ยงเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ประโยชน์ที่ได้จากการฉีดวัคซีนยังสูงกว่า

พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “Anutra Chittinandana” กรณีหลายคนลังเลใจ ที่จะเลือกวัคซีน mRNA ในเด็ก เนื่องจากมีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พร้อมสรุปรายงานของ CDC ครบทุกประเด็น โดยระบุว่า

LINE ALBUM วัคซีนโควิดรพ 1.สนาม ๒๑๐๙๒๓

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีน mRNA ในเด็ก

เราน่าจะมีวัคซีนโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจะมีวัคซีนชนิดสารพันธุกรรมเอ็มอาร์เอนเอ (mRNA) ได้แก่ วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ และวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา

โดยรัฐบาลจัดสรรวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ ให้กับเด็กและวัยรุ่นอายุ 12 ถึง 18 ปี ส่วนวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา ก็จัดเป็นวัคซีนทางเลือก ซึ่งบริหารจัดการโดยโรงพยาบาลเอกชน

หลายคนยังลังเลใจที่จะใช้วัคซีน mRNA เนื่องจากทราบว่า มีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังการรับวัคซีนชนิดดังกว่าว เลยขอนำเรื่องนี้จากข้อมูลในสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้วัคซีน mRNA มากที่สุด โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) สรุปไว้ มาให้ทุกท่านทราบกันนะครับ

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ได้รับการยอมรับว่า เป็นภาวะแทรกซ้อนที่หายากของวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอนเอ

จากรายงานของ CDC พบอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อบุหัวใจอักเสบ 12.6 รายต่อล้าน ของการได้รับวัคซีน mRNA เข็มที่สอง ในผู้ที่มีอายุ 12 ถึง 39 ปี โดยพบว่าเด็กอายุ 12-15 ปี มีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สูงกว่ากลุ่มอื่นถึง 4 เท่า

ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์
พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์

ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มักมีอาการเจ็บหน้าอก หรือเหนื่อยหอบเกิดขึ้น 2-3 วัน หลังได้รับวัคซีน mRNA เข็มที่ 2 โดยจะพบมีคลื่นหัวใจผิดปกติ ระดับเอนไซม์ของหัวใจ (Troponin-T) เพิ่มขึ้น การวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ทำได้ด้วยการตรวจสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหัวใจ (MRI)

กลไกการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จากวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ยังไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่าวัคซีนชนิด mRNA กระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติที่มีอยู่ก่อนแล้ว ในบุคคลบางกลุ่ม ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย

เชื่อว่าที่พบมากในผู้ชาย น่าจะเกี่ยวข้องกับความแตกต่างของฮอร์โมนเพศ กับการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน โดยทั่วไปอาการมักดีขึ้นเร็วหลังจากให้การรักษาและพักผ่อนอย่างเพียงพอ และส่วนใหญ่สามารถกลับไปเรียน หรือทำงานตามปกติได้ในเวลาไม่นาน

หากเปรียบเทียบความเสี่ยงกับประโยชน์ที่ได้รับ จากการรับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA แล้ว ประโยชน์ที่ได้รับในการป้องกันโรคและลดการเจ็บป่วยกับการเสียชีวิตจากโควิด จะสูงกว่าการเกิดหัวใจอักเสบมาก

และมีการศึกษา phase 3 ของวัคซีน mRNA รายงานถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนดังกล่าว ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12-17 ปี ในขณะที่วัคซีนชนิดอื่นยังไม่มีการรายงานผลในกลุ่มนี้

ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญของ CDC จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป แต่ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ ไม่สม่ำเสมอ ภายใน 1 สัปดาห์ หลังการได้รับวัคซีนดังกล่าว ต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อให้การดูแลรักษาโดยเร็ว”

อ้างอิงจากข้อมูล CDC: https://www.cdc.gov/…/vaccines/safety/myocarditis.html

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo