COVID-19

ผู้ป่วยหนัก เสียชีวิต ยอดพุ่ง ‘ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ’ แนะต้องเร็วทั้ง คัดกรอง-รักษา-ฉีดวัคซีน

ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ เปิดกราฟ ผู้ป่วยหนัก เสียชีวิต ยังพุ่งขาขึ้น ต้องลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ คัดกรองให้เร็ว เข้าสู่ระบบการรักษาไว และเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มผู้สูงอายุ – 7 โรคเรื้อรัง 

พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “Anutra Chittinandana” ถึงสถานการณ์ ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต จากโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยใน รพ.จะเริ่มคงที่ จากการใช้ระบบกักตัวที่บ้านและชุมชน แนะต้องเร่งคัดกรอง รักษา และฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงให้เร็ว โดยระบุว่า

ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ

“จัดทำรูปจากข้อมูลในเว็บไซต์ของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข https://ddc.moph.go.th/covid19-dashboard/ มาจัดทำเป็นกราฟเองครับ

รูปแรก แสดงแนวโน้มผู้ป่วยโควิด-19 รักษาอยู่ ใน รพ. และ รพ.สนาม

รูปที่ 2 แสดงแนวโน้มผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนัก ใช้เครื่องช่วยหายใจ และ เสียชีวิต ระหว่างวันที่ 24 เมษายน-3 สิงหาคม 2564 ไม่อธิบายตัวเลข ดูจากรูปน่าจะเข้าใจ ถึงภาระงานของระบบการรักษาพยาบาล ที่หนักหนาสาหัสอยู่ในตอนนี้ครับ

วันนี้เป็นวันแรกที่จำนวนผู้ป่วยใหม่ (18,901) ใกล้เคียงกับจำนวนผู้รักษาหาย (18,590) ห่างกันเป็นหลักร้อย ลดลงจากที่ผ่านมา ที่เห็นหลักหลายพัน มาตลอดครับ

ผู้ป่วย

การให้ผู้ป่วยกลับบ้านเร็วขึ้น และกลับไปทำ Home isolation ต่อหลังจากอาการดีขึ้น คงต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยที่จะกลับบ้าน เมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับ เพื่อเปิดเตียงว่างรับผู้ป่วยใหม่ได้เพิ่มขึ้น

 

การลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ ยังมีความสำคัญมาก ตอนนี้เชื้อสายพันธุ์เดลตาระบาดได้ง่ายมาก ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่รู้ตัวว่าติดจากที่ใดเป็นจำนวนมาก จึงต้องใช้แนวคิดว่า ทุกคนมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อมาให้กับเรา แม้ว่าเขาไม่มีอาการอะไร ถ้าไม่จำเป็นก็ควรอยู่บ้านเป็นหลัก เว้นระยะห่างแม้อยู่ในบ้าน ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเสมอ

ถ้าไปในที่ผู้คนแออัด ใส่แผ่นใสกันหน้า (face shield) ร่วมด้วยยิ่งดี แล้วยังต้องคิดเสมอว่า พื้นผิวหรือสิ่งของที่สัมผัส อาจมีเชื้อโรคติดอยู่ ทุกครั้งที่สัมผัส จึงต้องล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เสมอ โดยเฉพาะก่อนใช้มือสัมผัสใบหน้า ก็ต้องล้างมือก่อนทุกครั้งครับ

ผู้ป่วยหนัก

ถึงจะเห็นว่าผู้ป่วยใน รพ.จะเริ่มคงที่ ซึ่งน่าจะเกิดจากการมีระบบการกักตัวที่บ้าน และชุมชน (Home isolation และ Community isolation) มากขึ้น แต่จำนวนผู้ป่วยหนัก และผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

คงต้องพยายามให้มีการคัดกรองได้เร็วขึ้นด้วย ATK และรีบให้เข้าสู่ระบบการรักษา เมื่อได้ผลบวก โดยไม่ต้องรอผล RT-PCR และที่สำคัญคือ ต้องเร่งการฉีดวัคซีนให้กับ ผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรัง เพื่อช่วยลดอาการรุนแรง ลดระยะเวลานอน รพ.ในกลุ่มนี้ และลดอัตราการเสียชีวิตด้วยครับ

ขอแสดงความห่วงใย กับบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน และคนไทยทุกคน ที่ต้องร่วมมือร่วมใจกัน ให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกันครับ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo