COVID-19

สธ. แก้คำสั่งด่วน โต้ข่าวกดตัวเลขผู้ป่วย ตรวจ ‘Antigen test Kit’ พบติดเชื้อ ให้รายงานเข้าระบบ

สธ. แก้คำสั่งด่วน โต้ข่าวกดตัวเลขผู้ป่วย ปรับข้อ 5 ใหม่ จากเดิมตรวจ Antigen test Kits พบติดเชื้อไม่ต้องรายงานเข้าระบบ ปรับเป็น “คนที่น่าจะติดเชื้อ” ให้รายงานตามระบบ

หลังจากมีการเผยแพร่เอกสาร ข้อสั่งการ ถึงผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ให้ยกเลิกการตรวจเชิงรุกโดยการทำ RT-PCR แต่ให้ใช้วิธีการตรวจแบบ Antigen test Kits หรือ ATK แทนการคัดกรองเบื้องต้น ล่าสุด สธ. แก้คำสั่งด่วน แล้ว

สธ. แก้คำสั่งด่วน

โดยกรณีที่ผู้ป่วยที่พบผลบวก จะเป็นกลุ่ม Probable case ซึ่งยังไม่นับเป็นกลุ่มป่วย ไม่ต้องรายงานในระบบการรายงานโรคติด COVID-19 นั้น ทำให้เกิดความกังวลเรื่องการนับตัวเลขผู้ป่วยหรือไม่ โดยเฉพาะกระแสวิจารณ์ว่า อาจทำให้การนับตัวเลขผู้ป่วยคลาดเคลื่อน ไม่เป็นไปตามจำนวนผู้ป่วยจริง โดยเฉพาะจะทำให้ตัวเลขน้อยกว่าความเป็นจริง

ล่าสุด นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ลงนามประกาศปรับแก้ เปลี่ยนแปลงข้อสั่งการให้ชัดเจนขึ้น แจ้งกับทางผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด แล้ว โดยระบุว่า

ตามที่หนังสือที่อ้างถึง ข้อสั่งการข้อ 5 ให้ยกเลิกการทำ Active Case Finding (ACF)โดยการทำ RT-PCR และให้ใช้ Antigen test Kit แทนในการคัดกรองเบื้องต้น”

โดยกรณีที่ผู้ป่วยพบผลเป็นบวก จะเป็นกลุ่ม Probable case ซึ่งยังไม่นับเป็นกลุ่มป่วย ไม่ต้องรายงานในระบบการรายงานโรคติดเชื้อ COVID-19 เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางในการปฏิบัติตามที่กรมวิชาการกำหนด

Capture

สธ. แก้คำสั่งด่วน ปรับข้อ 5 ใหม่

สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงขอยกเลิกคำสั่งข้อ 5 ตามข้อสั่งการข้างต้น และให้ใช้ ข้อความแทน ดังนี้

ข้อ 5 การดำเนินการ Active Case Finding (ACF) ให้ดำเนินการดังนี้

5.1 ปรับให้ใช้ Antigen test Kit (ATK) เข้ามาใช้เสริมหรือแทน RT-PCR ในกรณีที่มีข้อจำกัด

5.2 กรณี Antigen test Kit (ATK) ให้ผลบวก ให้รายงานเป็น Probable case ตามระบบรายงานที่กำหนด และหากเคสดังกล่าวได้รับการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR ให้รายงานผู้ป่วยยืนยันเป็น confirmed case ต่อไป

สธ. 4

โดยหลักการที่มีคำสั่งดังกล่าว สืบเนื่องจากก่อนหน้านั้นการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ต้องทำด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งใช้เวลารอนานกว่าผลจะออกประมาณ 24-72 ชั่วโมง ทำให้การควบคุมโรค และการวางแผนการรักษาล่าช้า บางคนไปรอนอนที่บ้าน บางคนจากอาการสีเขียวกลายเป็นสีเหลือง สีแดง และการจะเข้ารักษาในโรงพยาบาล ก็ต้องมีผลตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันกับโรงพยาบาลในการเข้ารักษา

แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น ประกอบกับการตรวจ RT-PCR ใช้เวลานาน จึงมีนโยบายให้ตรวจแบบ Antigen test Kit มาช่วย เพราะจะทำให้ทราบผลรวดเร็ว จึงสนับสนุนให้ใช้ ATK ถ้าผลบวก ก็ให้พิจารณา ทำ Home Isolation ได้เลย

แต่บางกรณีไม่ใช่รักษาที่บ้านได้ อาจต้องรักษาในชุมชนหรือโรงพยาบาล ฯลฯ กลุ่มนี้ต้องมีการยืนยันด้วยวิธีการทำ RT-PCR ซึ่งกลุ่มนี้เราจะเรียกว่า Probable case หรือกลุ่มสงสัยว่าจะเป็น หรือกลุ่มน่าจะเป็น แต่อาจไม่เป็นก็ได้ เพราะการตรวจ Antigen test Kit เป็นการตรวจเร็วแบบเบื้องต้น

ดังนั้น จะแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสงสัยว่าจะป่วย คือ Probable case ส่วนอีกกลุ่มที่ต้องทำ RT-PCR และผลเป็นบวก จะเรียกว่า Confirm case หรือผู้ป่วย COVID-19″

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo