COVID-19

ตรวจโควิด-19 ด้วย ‘Antigen Test Kit’ พบติดเชื้อ ทำอย่างไรต่อ เช็คด่วน!

ตรวจโควิด-19 ใช้ Antigen Test Kit หากพบติดเชื้อ ต้องรอตรวจซ้ำด้วย RT-PCR รอคิวนาน ไม่มี รพ.รับตรวจ สธ.แก้ปัญหา ให้เข้ารักษา Home Isolation ทันที ไม่ต้องตรวจซ้ำ

หลังจากรัฐไฟเขียวให้สามารถใช้ชุดตรวจโควิด ด้วย Antigen Test Kit แต่ต้องตรวจซ้ำ ด้วย RT-PCR หากพบผลตรวจติดเชื้อ ส่งผลให้เกิดปัญหาคอขวด รอคิวตรวจนาน รวมทั้งรพ.หลายแห่ง ไม่รับตรวจ เนื่องจากเตียงเต็ม ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้แก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการให้เข้ารักษาในระบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้ทันที

ตรวจโควิด-19

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรณีการตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง โดยใช้ชุดตรวจ แอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen Test Kit : ATK) กรณีพบผลบวก จะใช้คำว่า เป็นผู้ที่น่าจะติดเชื้อโควิด-19 หรือคนที่น่าจะติดเชื้อ สามารถแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) แต่ต้องแยกกักที่บ้าน แบบอยู่ห้องนอนคนเดียว ใช้ห้องน้ำคนเดียว แยกอยู่แยกกินแยกนอน ต้องแยกทั้งหมด

ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าระบบแยกกักตัวที่บ้าน สปสช. จะสนับสนุนอาหารสามมื้อส่งถึงบ้าน โดยให้งบประมาณมาที่ รพ. ในการส่งอาหารถึงบ้าน และยังมีเครื่องมือดูแล ทั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ยาที่จำเป็น และหากเป็นคนไข้ที่มีโรคประจำตัว ทางการแพทย์แนะนำให้เริ่มยาฟาวิพิราเวียร์ให้เร็วที่สุด หากเข้าเกณฑ์สามารถส่งยาไปที่บ้านได้

“ขอย้ำว่า ATK หากผลเป็นบวก สามารถทำ Home Isolation ได้เลย โดยไม่ต้องตรวจซ้ำ แต่หากทำไม่ได้ และต้องเข้า Community Isolation หรือแยกกักที่ชุมชน ซึ่งเปิดแล้ว 20 กว่าแห่งโดยกรุงเทพมหานคร หลักการสำคัญ เราไม่สามารถนำคนไม่แน่ใจว่าติดเชื้อ ไปรวมกับคนติดเชื้อได้ แต่จะทำยังไงไม่ให้การรักษาล่าช้า”นพ.สมศักดิ์กล่าว

ATK

สิ่งสำคัญคือ ต้องสื่อสารว่าท่านเป็นผู้น่าจะติด และต้องเซ็นใบยินยอมรักษา และนำตัวพาไปที่ Community Isolation ศูนย์พักคอย ฮอสพิเทล หรือโรงพยาบาล แต่ให้ตรวจมาตรฐานด้วย RT-PCR คู่ขนานกันไป ซึ่งไม่ตรวจเลยก็ไม่ได้ เพราะอาจไม่ได้ติดเชื้อ แต่ตรวจช้าก็ไม่ได้

ชุดตรวจโควิด-19 ผลลวง 3-5%

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชุดตรวจมีหลายชนิด บางชนิดคุณภาพอาจไม่สู้ดี ผลหรือสเปคความไว ความจำเพาะอาจไม่ถึง 90% แต่ส่วนใหญ่ที่ อย.ให้การรับรอง และทางกระทรวงสาธารณสุข และสปสช.นำไปใช้ ส่วนใหญ่ได้ผลบวก 95% ขึ้นไป ขณะที่สามารถให้ผลลวง 3-5% แปลว่า มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ผลบวกแล้ว อาจไม่ได้ติดเชื้อจริง ตรงนี้น่ากังวล เพราะหากนำผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อจริงไปรวมกับผู้ติดเชื้อ ก็อาจติดเชื้อไปด้วย

นพ.สมศักดิ์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

ส่วนผู้ที่ผลเป็นลบ และสงสัยอาการอยู่ ก็ต้องทำซ้ำหลัง 3-5 วันภายหลัง ดังนั้น ผลบวกและผลลบมีผลปลอมได้ ดังนั้น จึงต้องมีระบบการรอ การแยก โดยศูนย์พักคอย จะมีการจัดมุมหนึ่ง ให้สำหรับคนที่รอผลตรงนี้ และเร่งทำ PCR ควบคู่กันไป

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีพระภิกษุสงฆ์ ในโรงเรียนปริยัติธรรม ย่านบางนา มีการติดเชื้อกว่า 200 รูป ทางรพ.สงฆ์ดูแลอย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีนี้ รพ.สงฆ์ได้เข้าไปทำ ซึ่งหลักการคล้าย ๆ Community Isolation โดยกรณีนี้เรียกว่า temple Isolation โดยดูแลพระที่นั่นเลย

กรณีที่อาการไม่มาก ทาง รพ.สงฆ์ ได้จัดแพทย์ พยาบาล และร่วมกับชุมชน มาดูแลพระภิกษุสงฆ์ ดูอาการภาพรวมทั้งหมด หากพระรูปใดอาการมากขึ้น เข้าข่ายสีเหลืองเข้ม ต้องการออกซิเจน ก็จะนิมนต์มาดูแลที่ รพ.สงฆ์ แต่หากเริ่มมีอาการก็จะเริ่มให้ยา โดยใช้หลักการเดียวกับ Community Isolation

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo