COVID-19

ย้ำชัด ๆ จัดสรรไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส 4 กลุ่มเร่งด่วน เร่งตรวจสอบรพ.แจ้งยอดเกิน ยันไม่ได้เพิ่ม

จัดสรรไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส สั่งจังหวัดส่งข้อมูล แจ้งจำนวน พร้อมตรวจสอบ รพ. คลินิก แจ้งยอดเกิน ส่งยอดผิด ยันฉีด 4 กลุ่มเป้าหมาย บุคลากรด้านการแพทย์ ด่านหน้า ผู้สูงอายุ ชาวต่างชาติ พื้นที่เสี่ยง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า แผนการจัดสรรไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ที่สหรัฐบริจาคให้ประเทศไทย จะเน้นฉีดใน 4 กลุ่มเป้าหมายหลักได้แก่

จัดสรรไฟเซอร์

1. กลุ่มบุคลากรด้านการแพทย์ บุคคลด่านหน้าที่มีความเสี่ยงสูง หรือกลุ่มคนที่ต้องทำงานดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เป็นการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 หรือบูสเตอร์โดส

2. กลุ่มผู้สูงอายุ ที่อยู่ในพื้นที่ระบาด

3. ชาวต่างชาติ ที่อยู่ในพื้นที่ที่ระบาด เช่น คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

4. กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง

นอกจากนี้ ล่าสุดในวันนี้ ได้มีการลงนามเซ็นสัญญา ซื้อขายวัคซีน กับบริษัทไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งมอบให้ไทยได้ ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนวัคซีนที่ได้รับบริจาค 1.5 ล้านโดส กำหนดส่งมอบสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ คาดเริ่มฉีดได้ในเดือนสิงหาคม 2564

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ 1
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้แต่ละจังหวัดรวบรวมข้อมูล และแจ้งจำนวนต้องการวัคซีนกลับมา ซึ่ง กรณีที่มีข่าวว่า หลายโรงพยาบาล หลายหน่วยงาน หลายคลินิก ส่งยอดคนที่จะฉีดวัคซีนมาเป็นจำนวนมาก ขอชี้แจงว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร กำลังตรวจสอบ และจะแจ้งกลับมาที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งบางหน่วยงานที่ส่งยอดผิด จะไม่มีการจัดสรรวัคซีนให้แน่นอน

“ที่มีข่าวว่า มีหลายรพ.ส่งข้อมูลไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เราจะมีการสอบทานเข้าไปเพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่ตรง จึงขอเรียนว่า เราจะฉีดให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าเป็นอันดับแรกก่อน บางหน่วยงานที่ไม่เข้าใจ และส่งยอดผิด จะไม่จัดสรรตามนั้น จะเป็นหน้าที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จะตรวจสอบข้อมูลและแจ้งมายังส่วนกลางต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

ในส่วนของการเจรจานำเข้าวัคซีน จากแอสตร้าเซนเนก้า รวม 61 ล้านโดส เมื่อรวมวัคซีนของซิโนแวค 19 ล้านโดส รวมทั้งจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส จะทำให้ไทยมีวัคซีน 100 ล้านโดส เพียงพอกับแผนฉีดวัคซีน 10 ล้านโดสต่อเดือน และจะเดินหน้าจัดหาวัคซีนเพิ่มอีกต่อเนื่อง

นพ.โอภาส กล่าวถึงการปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าอย่างน้อย 14 วัน ส่วนจะเปิดได้เมื่อใด ต้องพิจารณาตามสถานการณ์ หากควบคุมได้ก็จะมีมาตรการผ่อนคลาย หากยังคุมไม่ได้ก็ยังต้องคงมาตรการต่อไป ขณะที่ ร้านอาหารนอกห้าง ขอให้ปฎิบัติตามมาตรการสั่งนำกลับไปทานที่บ้าน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo